KEY :
- สธ.แจงนทท.ต่างชาติ ป่วย ‘โรคฝีดาษลิง’ มาพักต่อเครื่องที่ไทย 2 ชม.แล้วไปออสเตรเลีย
- มีผู้สัมผัส 12 คน (ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูง) แต่ยังสังเกตอาการต่อเนื่อง 7 วันแล้วยังไม่พบใครป่วย
- ย้ำโรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย เหมือนโรคซาร์ส โรคเมอร์ส และโรคโควิด 19
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคฝีดาษวานร ว่า ไทยยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ แม้จะมีรายงานผู้เดินทางมาพักต่อเครื่องที่ไทย 2 ชม.แล้วไปออสเตรเลีย ก่อนพบยืนยันป่วยโรคฝีดาษวานร อยู่ในไทย 2 ชม.ผู้ป่วยไม่มีอาการ มีผู้สัมผัส 12 คน (ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูง) แต่ยังสังเกตอาการต่อเนื่อง 7 วันแล้วยังไม่พบใครป่วย ส่วน 3 พี่น้องชาย (นักท่องเที่ยวชาวไอร์แลนด์) ที่ภูเก็ต พบมีตุ่มน้ำชัดขึ้นตามตัว ตรวจยืนยันเป็นเชื้อเริม จากการคลุกคลีกันเอง
“ย้ำโรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย เหมือนโรคซาร์ส โรคเมอร์ส และโรคโควิด 19 แต่เป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คล้ายกับโรคไข้เลือดออก อีสุกอีใส มาลาเรีย อหิวาตกโรค ฉะนั้นจะไม่เริ่มต้นกักตัวเลย จนกว่าจะเข้าเกณฑ์ผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้ประมาทเรื่องนี้ เพราะยังมีความเสี่ยงนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังอย่างเป็นระบบแล้ว”
เน้นดูแลเข้ม 3 ส่วน
- 1.ผู้เดินทางบินตรงมาจากจากประเทศที่มีระบาดในประเทศ ทั้งแอฟริกาแคนนานา สเปน โปรตุเกต และอังกฤษ ระวังทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยแจก QR ให้ดูอาการ หากมีอาการเข้าข่ายสงสัย (มีไข้ ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่น คู่กับมีประวัติเชื่อมโยง คือเดินทางจากประเทศที่มีการระบาดในประเทศภายใน 21 วัน หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์จากแอฟริกา ให้รายงานเข้า Thailand Pass
- 2.ให้โรงพยาบาล รวมถึงคลินิกเฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง และคลินิกโรคทางเพศสมัพันธ์ เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเข้าข่ายสงสัย วินิจฉัยแยกโรคและรายงานข้อมูลมาที่ส่วนกลาง และกรมควบคุมโรคจะส่งทีมสอบสวนโรคภายใน 24 ชม. ขณะนี้ได้เตรียมทีมสอบสวนโรคไว้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
- 3.ผู้ที่ดูแลการนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกา ต้องมีการเก็บตัวอย่างส่งทางห้องปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังโรคด้วย ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศขอให้ติดตามข่าวสารประเทศนั้นๆ เลี่ยงการไปรวมตัวทำกิจกรรมกับคนหมู่มาก และป้องกันตัวเองด้วยมาตรการ UP อย่างเคร่งครัด
สถานการณ์ทั่วโลกข้อมูล ณ 29 พ.ค.2565 พบรายงานผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย ผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวมเป็น 494 ราย ใน 32 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ หลายประเทศตอนนี้เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้น อย่างในเอเชียที่พบผู้ป่วยมากขึ้น เช่น อิหร่าน และปากีสถาน