คัดลอก URL แล้ว
พาณิชย์เสริมความรู้เกษตรกรหนุนใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้นทางธุรกิจ

พาณิชย์เสริมความรู้เกษตรกรหนุนใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้นทางธุรกิจ

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดสัมมนาให้ความรู้สื่อมวลชนและเกษตรกรหวังหนุนให้หันมาใช้ประโชยน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจโดยเฉพาะไม้ยืนต้นกู้เสริมธุรกิจได้ ระบุใช้มา 5 ปี ปล่อยกู้แล้วกว่า 137 ล้านบาท ด้านเกษตรกรผู้ปลูกไม่ยืนต้นร้องรัฐให้ดึงไม้กฤษณาร่วมธุรกิจด้วย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเปิดงานสัมมนาเรื่องไม้ยืนต้น “หลักประกันอันทรงคุณค่า”ให้สื่อมวลชนและเกษตรกรในจังหวัดระยองว่า ปัจจุบัน มีการปลดล็อกให้ใช้ “ไม้ยืนต้น” ทุกชนิด เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นสัก พยุง รวมไปถึงไม้ผลต่างๆ ทั้งทุเรียน มะม่วง และมะขาม แต่ยังมีการใช้ ไม้ยืนต้น มา เป็นหลักประกัน เพียง 0.001% จากจำนวนหลักประกันทั้งหมด ทำให้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเร่งเชิญชวนให้ผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่า มาใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อมุ่งส่งเสริมให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ นำร่องให้ความรู้ วิสาหกิจกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่แรก

อย่างไรก็ตาม นอกจากกิจกรรมสัมมนาเสริมความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว กรมฯยังได้นำคณะลงพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา หรือสวนหอมมีสุข จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้ปลูกไม้กฤษณา กว่า 135 คนในพื้นที่ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง รวมทั้งยังปลูกไม้ยืนต้นอื่น ทั้งต้นสัก มะค่า และไม้ผล คือ ทุเรียน เงาะ มังคุด และสละ ที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพื่อให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่สามารถนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินใช้สำหรับลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจ ให้กับผู้นำวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่สมาชิก

ทั้งนี้ ไม้กฤษณา เป็นเป้าหมายในการส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เนื่องจากเป็นไม้ที่เกษตรกรหลายกลุ่ม หันมาปลูกมากขึ้น เพราะมีการสกัดเป็นน้ำมันกฤษณา สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนเกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจ ที่จะปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้น เพราะสามารถใช้ขอสินเชื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ ซึ่งตั้งแต่กฏหมายกำหนดให้ “ไม้ยืนต้น” เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน มาตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยปัจจุบัน มีสถาบันการเงิน และ ผู้รับหลักประกันอื่น เข้าร่วมแล้ว 361 ราย ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. รวมถึงผู้รับหลักประกันอื่น อย่างผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ หรือ สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ ซึ่งนอกจากจะทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังต้องให้ความรู้กับสถาบันการเงิน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินในประกอบการปล่อยเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจนถึงวันที่ 20 พ.ค.65 ที่ผ่านมา มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว กว่า 680,000 คำขอ วงเงินที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมกว่า 12.9 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้อง เป็นทรัพย์สิน ที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด กว่า 77% มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท และไม้ยืนต้น มีสัดส่วนการใช้เป็นหลักประกันน้อยที่สุดเพียง 0.001% มูลค่าประมาณ 137 ล้านบาท
ดังนั้น หลังจากนี้ กรมฯ จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชน และเอสเอ็มอี รวมไปถึงวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโควิด-19 พร้อมเร่งพัฒนาระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้บริการประชาชนแบบเรียลไทม์ อาทิ ระบบการยืนยันตัวตนของผู้รับหลักประกันทั่วประเทศ โดยไม่ต้องมายืนยันตัวตนที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ มี 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า (3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ (4) อสังหาริมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง (5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และ (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก็คือ ไม้ยืนต้น

นางพิกุล กิตตพล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา ย้ำว่ากลุ่มเกษตรกรสนใจ นำไม้ยืนต้นไปเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันกู้เงิน เพราะดีกว่าใช้โฉนดที่ดิน ไปเป็นหลักทรัพย์ เพราะที่ผ่านมา ขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งได้ใช้วิธีการตัดไม้ขายเพื่อพยุงความเดือนร้อน สำหรับในทางปฎิบัติ ยังติดขัด ในกระบวนการของสถาบันการเงิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขเพื่อให้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใช้ได้จริง ดังนั้น จึงอยากเสนอภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาผ่อนปรมปัญหาดังกล่าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้นประเภทต้นไม้กฤษณาด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง