คัดลอก URL แล้ว
“ธัญวัจน์” เผย สภายอมตั้งอนุฯ ยกร่างกฎหมายรับรองเพศ – คำนำหน้าคนข้ามเพศ

“ธัญวัจน์” เผย สภายอมตั้งอนุฯ ยกร่างกฎหมายรับรองเพศ – คำนำหน้าคนข้ามเพศ

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่า ได้รับเรื่องราวปัญหามากมายจากประชาชน ปัญหาหนึ่งที่ได้รับเรื่องเข้ามาคือประเด็นคนข้ามเพศ หรือ Transgender ที่ประสบปัญหาในการเลือกปฏิบัติ การแต่งกายตามเพศสภาพ การเดินทางไปต่างประเทศ

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จะมีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเรื่องเพศเป็นปัญหาโครงสร้าง และกลุ่มคนข้ามเพศยังมิได้มีกฎหมายรับรองเพศและคำนำหน้า ตนจึงเสนอให้ กมธ.ฯ พิจารณาวาระดังกล่าว และมีความเห็นว่าควรยกร่างกฏหมาย เพราะการแก้ปัญหาเป็นรายกรณีไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาถาวร และเมื่อไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาต่อกลุ่มคนข้ามเพศแบบนี้เรื่อยไป

“ความเข้าใจของสังคมส่วนหนึ่งอาจมองแค่ว่าเป็นชายแต่งกายคล้ายหญิง แต่อยากให้เข้าใจอีกมุมมองคือ จริง ๆ แล้วภายในของเขาเป็นผู้หญิงแต่มีร่างกายที่เป็นผู้ชายต่างหาก เขาจึงต้องเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับความเป็นหญิงของเขาภายใน” ธัญวัจน์ กล่าว

ธัญวัจน์ ระบุเพิ่มเติมว่า กฏหมายรับรองเพศ หรือ Gender Recognition เป็นกฎหมายที่มีการประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2547 และในปัจจุบันมีหลายประเทศให้การรับรองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น อังกฤษ สเปน อาเจนตินา อุรุกวัย มอลต้า โคลัมเบีย ไอร์แลนด์ โปแลนด์ โบลีเวีย นอร์เวย์ ฝรั่งเศส อินเดีย อเมริกา ออสเตรเลีย และ แคนนาดา เป็นต้น และจากข้อมูลของมูนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าการเกณท์ทหารในแต่ละปีจากจำนวนเพศกำเนิดชาย 97,000 คน จะพบบุคคลที่อยู่ในสถานะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดโดยเฉลี่ย 3,000 คนต่อปี จึงมีการคาดคะเนและประมาณการว่าจำนวนหญิงข้ามเพศ Transwoman ในประเทศไทยน่าจะมีเกือบ 2 – 3 แสนคน ไม่รวมชายข้ามเพศ Transmen ที่ยังไม่มีการประมาณการแน่ชัด

“ขอขอบคุณ คณะกรรมาธิการที่เล็งความสำคัญ ในกรณีนี้ และให้ความไว้วางใจให้ธัญได้รับแต่งตั้งเป็นประธานของคณะอนุกรรมาธิการดังกล่าว ขณะนี้กำลังเตรียมการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาแสดงความคิดเห็น เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ของประชาชนที่จะได้พูดถึงปัญหาของตนเอง ร่วมกันยกร่างกฏหมายเพื่อนำเข้าสู่สภาในวาระต่อๆ ไป “


ข่าวที่เกี่ยวข้อง