คัดลอก URL แล้ว
‘ชัชชาติ’ แลนด์สไลด์ สะท้อนให้เห็นอะไรกับเสียงของประชาชน

‘ชัชชาติ’ แลนด์สไลด์ สะท้อนให้เห็นอะไรกับเสียงของประชาชน

KEY :

ผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ และ ส.ก. ในปี 2565 นั้นถือได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนของคนกรุงเทพฯที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และยิ่งตอกย้ำคะแนนนิยมทางการเมืองจากการเลือกตั้งในปีเมื่อ 62 ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแย่งชิง ส.ส. ในพื้นที่เมืองหลวงได้แม้แต่เขตเดียว

จากทำเนียบผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2547 ล้วนแต่เป็นผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้ง จากการส่งตัวแทนเข้าชิงจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคะแนนนิยมที่ประชาชนไว้วางใจ ตั้งแต่สมัยนายอภิรักษ์​ โกษะโยธิน มาถึง หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร และคนล่าสุดจากทางพรรคคือ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ที่ถูกดันขึ้นรองผู้ว่าฯ ก่อนได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ในสมัยรัฐบาล คสช.

แต่การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯครั้งล่าสุดนี้ เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าคนกรุงนั้น ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับพวกเขาเอง อาจด้วยมรสุมหลาย ๆ อย่างที่เกิดในพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งคดีสุดฉาวของอดีตรองหัวหน้าพรรค และความไม่ลงรอยและเห็นต่างกันภายในพรรคเอง ย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียงจากประชาชนที่ลดลงตามสภาพ

การเลือกตั้งในครั้งนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘ชัชชาติ แลนด์สไลด์’ หรือการคว้าชัยชนะอย่างท่วมท้นด้วยคะแนนเสียงกว่า 1,386,215 คะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.ก. สัดส่วนผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็น ส.ก. จากพรรคการเมืองอย่าง พรรคเพื่อไทย สามารถคว้าพื้นที่ได้ 19 เขต และพรรคก้าวไกล 14 เขต

ผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ)

สำหรับผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ และ ส.ก. ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้ง 50 สำนักงานเขต รวม 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 01.10 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีดังนี้

การเลือกตั้ง ส.ก.

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผลการนับคะแนนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปรากฎว่า หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1,386,215 คะแนน

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง

‘ชัชชาติ แลนด์สไลด์’

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็น ‘ชัชชาติ แลนด์สไลด์’ ซึ่งวิเคราะห์ว่าเหตุผลที่ทำให้คนกรุงเทคะแนนให้กับ ‘ชัชชาติ’ อย่างท่วมท้น คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ ในฝันของคนกรุงเทพฯในการเลือกตั้งครั้งนี้ และการประกาศตัวเป็นผู้สมัครอิสระ คือ ยุทธศาสตร์ที่ใช่ ในเวลาที่ถูก

อีกทั้งยังเปิดตัวก่อน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง มีทีมคิด ทีมทำงานเข้มแข็ง นโยบาย ป้าย รถหาเสียง ลังไม้ปราศรัย ฯลฯ สร้างความแตกต่าง โชว์ไอเดีย เก็บแต้มได้ทุกเม็ด นอกจากนี้ยังมองว่าคะแนนส่วนใหญ่ของเพื่อไทยน่าจะอยู่ที่ ‘ชัชชาติ’ แต่ที่ทำให้ถล่มทลายคือคะแนนจากทุกพรรคทุกฝ่ายไหลมารวมกัน เป็นผู้ว่าฯที่ทรงพลังทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถ้าทำได้ ทำดี เส้นทางการเมืองมีให้เดินต่อ กทม.คงเล็กไป

อีกหนึ่งประการคือยุทธการ ‘ไม่เลือกเราเขามาแน่’ ส่งผลมุมกลับ คนกลัวชัชชาติแพ้ เทคะแนนให้ ขณะที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ และพวก 3 ป. ถูกปฏิเสธจากประชาชนหนักมาก และจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามมองว่าการเลือกตั้ง กทม. ในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย สามารถทำงานได้อย่างสำเร็จงดงามในสนาม ส.ก. และพรรคก้าวไกลก็เช่นกัน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องอาศัยความล้มเหลวของพลังประชารัฐ พรรคอื่น ๆ ยังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป

ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ออกมาให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ว่า ความเป็นตัวตนของ ‘ชัชชาติ’ ความมุ่งมั่น และความสามารถ

อีกหนึ่งประการสำคัญคือการลงสมัครในฐานะ ‘ผู้สมัครอิสระ’ การวางตัวเป็นกลางทางการเมือง การรักษาระยะห่างจากพรรคเพื่อไทย เพื่อต้องการเป็นผู้สมัครอิสระอย่างแท้จริง นอกจากนี้คะแนนเสียงที่เทให้กับ ‘ชัชชาติ’ ส่วนหนึ่งมาจากคะแนนนิยมจากทาง พรรคพลังประชารัฐ-พรรคประชาธิปัตย์ ที่หันมาลงคะแนนเสียงให้ด้วยเช่นกัน

กว่าจะมาเป็น ‘ชัชชาติ’ (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม.

รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เกิด 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 อายุ 56 ปี ชื่อเล่น ทริป สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจากสถาบันเดียวกับที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี, วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2530

เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ อาจารย์ และวิศวกรชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2565 และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

โดยระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี อาทิ การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง , การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน , การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด , ให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา

ในช่วงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองปี 2556-2557 ถูก กปปส. กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังการทำรัฐประหารโคย คสช. ‘ชัชชาติ’ ถูกคุมตัวไปยังค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ

ต่อมาในปี 2561 ได้ลาออกจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สนามการเมืองอีกครั้ง โดยได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต ‘นายกรัฐมนตรี’ ในการเลือกตั้งปี 2562 ท้ายที่สุดแม้จะไม่ได้รับเสนอชื่อในวาระสุดท้าย แต่ต่อมาได้ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ แบบเต็มตัวในฐานะ ‘ผู้สมัครอิสระ’

‘ชัชชาติ’ ยืนยันหนักแน่นว่า การเป็นเลือกที่จะลงเป็น ‘ผู้สมัครอิสระ’ เพราะไม่ต้องการดำเนินอยู่บนความขัดแย้งของแต่ละขั้วการเมือง แต่ตั้งใจลงสมัครเพื่อเข้ามาบริหารงานอย่างจริงจัง และนึกถึงประชาชนเป็นหลัก

นโยบาย 214 ข้อ กับ 9 ด้าน ของ ‘ชัชชาติ’

มาช่วยกันทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่ “สำหรับทุกคน”

นี่คือสโลแกนของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 17 มาพร้อมกับนโยบาย 214 ข้อ จาก 9 ด้านในการพัฒนาเมืองหลวง โดยให้เหตุผลว่า เมืองจะน่าอยู่ได้ ต้องมีองค์ประกอบดี 9 ด้าน คือ บริหารจัดการดี ปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี เดินทางดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี เราต้องเดินหน้าพัฒนาเมืองทั้ง 9 ด้านไปพร้อมกัน ด้วยความโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และ เดินหน้าทันที

ซึ่งเหตุผลที่นโยบายมีถึง 214 ข้อ นั้น เนื่องมาจากแต่ละพื้นที่นั้น มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป การวางนโยบายจึงต้องลงลึกไปแต่ละพื้นที่ ให้เหมาะสม และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างที่จุด และมองว่าปัญหาแต่ละพื้นที่นั้นเป็นเหมือน ‘เส้นเลือดฝอย’ ที่ต้องแก้ในเชิงลึก เข้าใจในปัญหา

อย่างไรก็ตามหลังได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น ‘ชัชชาติ’ ได้ฝากงานแรกสู่ข้าราชการในกรุงเทพมหานครในทุก 50 เขต ศึกษานโยบายทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวเดิน เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ดั่งเช่นสโลแกนที่วางไว้

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเทคะแนนเสียงจนเกิด ‘ชัชชาติ แลนด์สไลด์’ อีกข้อหนึ่งคือเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากชาวกรุง ที่เชื่อมั่น และวางไว้ใจให้กับว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ ในการเข้ามาดูแล บริหารจัดการกรุงเทพฯ

แต่หลังจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของชายที่ชื่อว่า ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ และเมื่อถึงเวลานั้นไม่จำเป็นต้องออกมาป่าวประกาศแต่อย่างใด แต่เสียงจากประชาชนนี่แหละ จะสะท้อนออกมาเองว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการลงคะแนนเสียงให้ในครั้งนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง