KEY :
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ในการขอประกันตัว ทานตะวัน นักกิจกรรมวัย 20 ปี
- ในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- จากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยการขอประกันตัวในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2
วันนี้ ( 20 พฤษภาคม 65 ) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาเพื่อใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นหลักประกัน ในการขอประกันตัว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ‘ตะวัน’ นักกิจกรรมวัย 20 ปี ในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยการขอประกันตัวในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว
โดย พิธา เน้นย้ำในหลักสากล ICCPR ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการไต่สวน สำหรับ ตะวัน นั้นเป็นห่วงในวิกฤตด้านสุขภาพของ ทานตะวัน เนื่องจากได้อดอาหารมาเป็นเวลา 30 วันแล้ว ขณะที่การยื่นขอประกันครั้งที่แล้วแต่ไม่สำเร็จนั้น ตนก็เพิ่งทราบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเอกสาร แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน ถ้าเงื่อนไขในด้านเอกสารที่ไม่ครบจริง แปลว่าวันนี้ก็อาจจะได้ข่าวดี ที่ ทานตะวัน อาจจะได้รับการประกันตัวชั่วคราว
“ผมไม่แน่ใจว่าการเรียงลำดับความสำคัญระหว่างเรื่องหลักการนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นหลักสากล เรื่องของสิทธิมนุษยชน ในการปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ออกมาสู้คดี และเรื่องของวิกฤตสุขภาพ มันควรจะไล่ลำดับมาอย่างนั้น ระบบ คน สิทธิมนุษยชน แล้วค่อยเป็นเรื่องเอกสาร”
พิธา กล่าว
พิธา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องเอกสารนั้น ตนไม่ได้ไร้เดียงสาจนจะไม่รู้ว่า มีความแตกต่างระหว่างหนังสือรับรองเงินเดือน และสลิปเงินเดือน อีกทั้งทนายของตนยังบอกว่าเอกสารเหล่านี้สามารถอัดส่งได้ แต่ตนมองว่าข้อแตกต่างนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเรื่องของสุขภาพนั้นสำคัญกว่า แต่ถ้าศาลคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญจริง วันนี้เราคงได้ฟังข่าวดี
ในส่วนของผู้ต้องหาทางการเมืองคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ทาง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ได้เตรียมรายชื่อผู้ต้องหาเหล่านั้นไว้แล้ว และจะทำตามหน้าที่ในการยื่นขอประกันตัว และรอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 5 ฉบับ ที่เคยเสนอไป รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย แต่ยังไม่แน่ใจว่า สภาจะบรรจุเข้าวาระการประชุมเมื่อใด เพราะขณะนี้กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยยังคงมีปัญหาอยู่
“การที่คุณจะฝากขังบุคคลอายุ 20 ปี คนหนึ่งให้ถูกลิดรอนเสรีภาพไป โดยไม่มีการไต่สวน ไม่มีการเบิกพยานใดๆ ทั้งสิ้น ต้องใช้ดุลยพินิจเยอะ คนคนเดียวคงไม่พอ ถ้าเป็นต่างประเทศต้องใช้หลายลายเซ็น เป็นเรื่องที่ผมได้ฝาก ส.ส. ด้านกฎหมาย ให้ช่วยดูว่าการฝากขัง ไม่ควรจะใช้ดุลพินิจของคนแค่คนเดียว เป็นสิ่งที่ผมอยากพัฒนาให้เป็นสากลมากขึ้น”
พิธา กล่าว
ภาพ – วิชาญ โพธิ