KEY :
- ก่อนหน้านี้ในโลกออนไลน์ ระบุพบฟอสซิล แอมโมไนต์ ประดับบนพื้นกลางห้างดังสยามสแควร์
- ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟอสซิลสันนิษฐานว่าเป็นของแท้ มาจากแหล่งหินในทวีปอัฟริกา (มาดากัสการ์)
- กรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว พบฟอสซิลจำนวน 77 ชิ้น ตลอดสองฝั่งถนนซอยสยามสแควร์
- ทางจุฬาฯ ชี้แจง เป็นผู้จ้างให้ดำเนินการเมื่อปี 2563 โดยทางผู้รับเหมานำมาตกแต่งเอง โดยไม่ทราบที่มาของฟอสซิล
ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชน กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก รายหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมระบุพบฟอสซิล แอมโมไนต์ ประดับบนพื้นกลางห้างดังสยามสแควร์ หลังจากภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟอสซิลสันนิษฐานว่าเป็นของแท้ มาจากแหล่งหินในทวีปอัฟริกา (มาดากัสการ์) มีจำนวนมาก สามารถซื้อขายได้ทั่วโลก ราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาทตามขนาดตัว
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี มอบหมายให้กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ (กคบ.) โดย นายอดุลวิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยาปฏิบัติการและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบฟอสซิล แอมโมไนต์ ที่ห้างดังสยามสแควร์ ผลการตรวจสอบ พบว่า ฟอสซิลแอมโมไนต์เป็นของจริง แต่พื้นหินเป็นพื้นหินขัด ทำขึ้นมาภายหลัง ไม่ใช่หินจริง เพราะเนื้อหินไม่ได้เกิดจากการสะสมตัวตามธรรมชาติ
จากการตรวจสอบพบฟอสซิลจำนวน 77 ชิ้น ตลอดสองฝั่งถนนซอยสยามสแควร์ กระจายตัวทางเดินเท้า ระยะทางประมาณ 400 เมตร พบฝั่งซ้าย จำนวน 28 ชิ้น ฝั่งขวา จำนวน 49 ชิ้น ฟอสซิลมีขนาดตั้งแต่ 2-12 เซนติเมตร ส่วนใหญ่พบอยู่ตามหน้าร้านค้า ทางแยก และหน้าบันได
ทั้งนี้แอมโมไนต์ที่พบมีลักษณะหลากหลาย คาดว่ามาจากแหล่งหลายประเทศ แต่แหล่งที่โด่งดังในโลก คือ มาดากัสการ์ ซึ่งเป็นแหล่งที่พบเยอะ และจำหน่ายส่งออกเป็นจำนวนมากในเว็บขายของออนไลน์
อย่างไรก็ตามฟอสซิลมาจากผู้รับเหมา ซึ่งทางจุฬาฯ เป็นผู้จ้างให้ดำเนินการเมื่อปี 2563 โดยทางผู้รับเหมานำมาตกแต่งเอง โดยไม่ทราบที่มาของฟอสซิล เนื่องจากผู้รับเหมารายย่อยหลายราย
ที่มา – กรมทรัพยากรธรณี