KEY :
- ก่อนหน้านี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงป้ายหาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. บดบังทัศนวิสัย และทางเดินเท้า
- ล่าสุดผู้สมัครแต่ละค่ายเริ่มมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในการวางป้ายหาเสีย ติดตั้งให้สูงขึ้น , ชิดขอบบาทวิถีมากขึ้น
วันที่ (4 เม.ย.65) หลังถูกวิจารณ์ในเรื่องการติดตั้งป้ายหาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ผู้สมัครแต่ละค่ายเริ่มมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในการวางป้ายหาเสียง โดยบางคนมีการติดตั้งให้สูงขึ้น หรือมีการติดตั้งให้ชิดขอบบาทวิถีมากขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่แก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา
ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดสถานที่ปิดประกาศ และติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กำหนดว่า ให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปิดประกาศ และติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่หน่วยงานกำหนด จำนวนดังนี้
- ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง จัดทำได้ไม่ได้เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
- แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งต้องไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
การจัดทำและปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซ็นติเมตร และมีความยาวไม่เกิด 245 เซ็นติเมตร ส่วนพื้นที่ หรือบริเวณที่ “ห้าม” ปิดป้ายหาเสียงคือ บนผิวการจราจร, เกาะกลางถนน, สะพานลอยเดินข้าม, สะพานลอยรถข้าม รวมถึงสวนประกอบของสะพาน รั้ว และแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจร และสัญญาณไฟจราจร, ป้ายประกาศของทางราชการ, รั้ว หรือกำแพง หรือผนักงของอาคารทางราชการ, ต้นไม้ และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน
ในส่วนของเสาไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนด, ศาลาที่พักผู้โดยสาร และบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร, ตู้โทรศัพท์, ตู้ไปรษณีย์, ป้อมตำรวจ, สุขาสาธารณะ, สนามหลวง, สวนหย่อม, สวนสาธารณะ, วงเวียน, ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง, ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา, ลานพระบรมรูปทรงม้า, ถนนราชดำเนินนอก, ถนนราชดำเนินกลาง, ถนนราชดำเนินใน และการติดประกาศในซอย จะต้องมีระยะห่างจากปากซอยไม่น้อยกว่า 10 เมตร
ภาพ : ธนโชติ ธนวิกรานต์