นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะกรรมการกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2565 ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 และให้มีการรับสมัครระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ถึง วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ
สำหรับการรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้งในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1 คน ให้ถือเขตของกรุงเทพมหานครเป็น 1 เขตเลือกตั้ง และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 50 คน ให้ถือเขตของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง และจากจำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 5,523,676 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค.65) แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,862 หน่วย
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันพรุ่งนี้ (31 มีนาคม 2565) ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัคร กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมสถานที่รับสมัคร คือ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา รวมทั้งจัดหา อุปกรณ์ ติดตั้งระบบ และซักซ้อมความเข้าใจเจ้าหน้าที่ผู้ที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัคร เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เท่าเทียม โดยวันนี้เป็นการตรวจความพร้อมครั้งสุดท้าย ก่อนการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ซึ่ง ทาง กทม. ยืนยันว่า ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้งสมาชิกกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ และสถานที่ปิดประกาศ รวมทั้งสถานที่ห้ามปิดประกาศไว้อย่างชัดเจน อาทิ สถานที่ปิดประกาศ ได้แก่ บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขต โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น และต้องแจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้น ๆ
สำหรับสถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน เป็นต้น โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้กำหนดให้มีการจำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้าในพื้นที่รับสมัคร โดยเข้าได้เฉพาะผู้สมัคร และผู้ติดตาม 1 คน เท่านั้น สำหรับกองเชียรสามารถให้กำลังผู้สมัครได้ภายนอกอาคารไอราวัตพัฒนา บริเวณลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ โดยขอให้ผู้ที่เดินทางมาทุกคน ผ่านระบบคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สแกนQR Code ไทยชนะ ก่อนเข้างาน และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่
สำหรับกรณีกองเชียร์หรือผู้สนับสนุนที่จะมาร่วมให้กำลังใจผู้สมัคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอนมาตรการโควิด-19 กลุ่มผู้สนับสนุนจะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ โดยใช้มาตรการเว้นระยะห่าง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อย
นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีสิ่งที่ผู้สนับสนุนสามารถทำได้ หรือ ไม่สามารถทำได้นั้น ซึ่งเมื่อเข้ามาในบริเวณศาลาว่าการ กทม. ให้ป้องกันมาตรการโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ส่วนสิ่งที่มีความห่วงใยใน 2 ประเด็น คือ 1.ขณะนี้เข้าสู่โหมดการหาเสียง สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ อย่าฝ่าฝืนมาตรา ม.65 (1) เช่น ผู้สมัครพลั้งเผลอซื้ออาหารและเครื่องดื่มให้ผู้สมัคร และ ประเด็นที่ 2 การจัดให้มีมหรสพ รำกลองยาว ร้องเพลง ต่างๆไม่สามารถทำได้
ส่วนเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ผู้สมัครจะนำมาสมัครในวันพรุ่งนี้ต้องครบถ้วน ขาดรายการใดรายไปไม่ได้ เนื่องจาก มาตรา 52 บัญญัติชัดเจนว่า ต้องครบถ้วน ด้วยความห่วงใยของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักฐานการเสียภาษีย้อนหลังในปี 2562,2563,2564 และไม่สามารถเรียกเอกสารย้อนหลังได้ หากเตรียมมาไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและจะต้องกลับไปนำเอกสารมาให้ครบถ้วน
ส่วนกรณีผู้สมัครที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยง จะสามารถลงสมัครได้หรือไม่นั้นนายสำราญกล่าวว่า ไม่ได้มีบทบัญญัติใดห้าม ดังนั้นในกระบวนการรับสมัคร หากผู้ที่จะมาสมัครเกิดติดเชื้อ จะต้องทำการขออนุญาตจากเจ้าพนักงานโรคติดต่อจากในพื้นที่นั้นๆ ถ้าได้รับอนุญาตจึงจะรับสมัครได้ ซึ่งกฎหมายการเลือกตั้งไม่ได้มีข้อห้ามในส่วนนี้