KEY :
- ร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา
- กระทรวงยุติธรรม ระบุ การฉีดให้ไข่ฝ่อ กระทำพลการไม่ได้ ต้องมีความเห็นจากแพทย์ และเจ้าหน้าที่ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน
- อีกทั้งต้องได้รับการยินยอมจากผู้ต้องหา และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับการฉีด ซึ่งจะเป็นการพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
คดีข่มขืน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวเหล่านี้มักจะมีปรากฏขึ้นอยู่บนหน้าสื่อเสมอในแต่ละปี และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนรอบตัว คนภายในครอบครัว ซึ่งสร้างความหดหู่ใจทุกครั้งเมื่อเราได้เห็นข่าวเหล่านี้
ในปัจจุบันกฎหมายของคดีข่มขืน มีอัตราโทษสูงสุดอยู่ที่ 20 ปี ยังไม่นับรวมตามพฤติการณ์ของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง การปิดบังซ่อนเร้นอำพราง หรือใช้ความรุนแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หรือคดีพรากผู้เยาว์ ซึ่งบทลงโทษในแต่ละกระทงจะมีอัตราโทษที่แตกต่างกันไปตามที่กฎหมายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งหากเป็นคดีที่มีการกระทำผิดร้ายแรงจะมีอัตราโทษสูงสุดคือ ‘ประหารชีวิต’
ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่ในกระบวนการของชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นตัวของผู้ต้องหาเองในการให้การ หรือการรับสารภาพหรือไม่ ประกอบกับพยานหลักฐานที่ชี้ชัดต่อผู้กระทำความผิด รวมไปถึงดุลยพินิจของทางศาลเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกตัดสินแล้วนั่นก็คือเสียงสะท้อนจากสังคม ในแต่ละครั้งที่มีคดีข่มขืน แรงกระเพื่อมจากสังคมจะยิ่งถูกส่งเสียงออกมาตามคดีข่มขืนที่สะเทือนใจ ทั้งคดีข่มขืนและฆ่า คดีรุมโทรม ต่าง ๆ เราคงเคยได้เห็นหรือได้ยินข้อความ “ข่มขืน = ประหาร” ทุกครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางคดีในลักษณะดังกล่าว
แน่นอนว่าถึงแม้สังคมจะมีการตัดสินไปแล้วหรือเรียกภาษาบ้าน ๆ ว่าเป็น “ศาลเตี้ย” แต่ท้ายที่สุดกระบวนการต่าง ๆ ก็ต้องดำเนินคดีไปตามประมวลบทกฎหมายที่กำหนดไว้
กฎหมาย ‘ฉีดให้ไข่ฝ่อ’ ในไทย
ปัจจุบันข้อกฎหมายนี้ที่กระทรวงยุติธรรม อยู่ระหว่างการ ร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการป้องกันภัยคุกคามทางเพศและความรุนแรงต่างๆ รวมทั้งการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้หลักทางจิตวิทยา และมาตรการทางการแพทย์ เพื่อเข้ามามีส่วนในการป้องกันในผู้ต้องหาที่ได้กระทำผิดซ้ำ เช่น การใช้ยา การฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ หรือ ‘ฉีดให้ฝ่อ’
โดยมาตรการทางการแพทย์ ควบคู่กับมาตรการทางกฎหมายใส่อุปกรณ์ติดตามตัว และมีเจ้าหน้าที่คุมประพฤติติดตามดูแล เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้หญิงและเด็ก
ซึ่งจะกระทำพลการไม่ได้ ต้องมีความเห็นจากแพทย์ และเจ้าหน้าที่ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน มีความเห็นพ้องต้องกันโดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดด้วย ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ไม่ใช่เรื่องป่าเถื่อน นานาประเทศเขาก็ทำกัน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา มีบางรายที่ต้องถูกควบคุมตลอดชีวิต ส่วนค่าใช้จ่ายการฉีดให้ฝ่อ 100,000 บาทต่อรายนั้น โดยต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ทางนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถือว่าล้ำสมัยมาก อยู่ที่เวลาในการก้าวต่อไป และเชื่อว่ารัฐบาลในยุคหลังจากนี้จะปรับปรุงให้สมบูรณ์ได้มากขึ้นไปอีก เพิ่มมาตรการในทุกมิติ ที่เราทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อหวังให้สังคมปลอดภัย คดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเพศและความรุนแรง รวมทั้งผู้กระทำผิดซ้ำจะลดลง หากสังคมรับรู้ว่าคนร้ายอยู่ที่ใด สังคมจะปลอดภัย เพราะเราช่วยดูแลกันเองได้
นานาประเทศกับบทลงโทษ ‘คดีข่มขืน’
ในเกาหลีถึงได้ว่าเป็นชาติแรก ๆ ในเอเชีย โดยเมื่อช่วงปี 2554 ได้พิจารณาและนำให้ใช้วิธีการใช้สารเคมีเพื่อลดฮอร์โมน ต่อผู้ที่กระทำความผิดทางเพศ หลังมีการเรียกร้องให้มีการเพิ่มบทโทษที่รุนแรง เพื่อป้องกันการกระทำความผิดและลดปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก
ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของเกาหลี ก็ได้อนุมัติร่างกฎหมายฉบับแก้ไขดังกล่าว รวมถึงขยายข้อกฎหมายครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางเพศต่อผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 19 ปี และบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิดทางเพศย้อนหลัง
หรือแม้แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2539 เป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้ใช้การทำหมันด้วยสารเคมีหรือการผ่าตัดสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศบางคนที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเข้าสู่ชุมชน
อย่างไรก็ตามแนวทางในการลงโทษนักโทษคดีข่มขืนที่มีใช้ในหลายประเทศ มีทั้งแบบ ฉีดยาเพื่อให้อัณฑะฝ่อ กับแบบผ่าตัดเอาอัณฑะออกไปเลย ประเทศที่ใช้ยาฉีดจะมี เกาหลี อเมริกา เดนมาร์ค โปแลนด์ ส่วนประเทศที่ใช้วิธีผ่าตัดจะมีเยอรมัน นอร์เวย์ เช็ค ฟินแลนด์ และสวีเดน
ยังคงมีข้อถกเถียงกับบทลงโทษ ‘ฉีดให้ไข่ฝ่อ’
การจะบังคับใช้ข้อกฎหมายดังกล่าว ต้องคำนึงถึงในหลาย ๆ ส่วน ทั้งหลักทางกฎหมาย ทางการแพทย์ ซึ่งหลักทางการแพทย์นั้นการที่ทำผู้ก่อเหตุกระทำความผิดทางเพศ เนื่องมาจากปริมาณฮอร์โมนชายที่มีมากจนเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มผิดที่มีการกระทำผิดซ้ำซาก
จนนำไปสู่การใช้สารเคมีเพื่อลดฮอร์โมนลง ในอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือลดน้อยลงไปเลย โดยฮอร์โมนเพศชายผลิตจากอัณฑะของผู้ชาย ทำหน้าที่ควบคุม เกื้อหนุนลักษณะการแสดงออกทางเพศชาย สนับสนุนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย การใช้สารเคมีจึงเป็นอีกหนึ่งวิธี เพื่อหวังที่จะลดปัญหาอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับแพทย์ทางจิตเวช
ซึ่งการใช้สารเคมีในการฉีดลดฮอร์โมน หรือ ‘ฉีดให้ไข่ฝ่อ’ แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงตามเช่นเดียวกัน โดยจะทำการฉีดในทุก ๆ สามเดือน เป็นระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งต้องทำควบคุมไปกับการบำบัดทางจิต จนผู้กระทำความผิดสามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศของตนเองได้
แม้การใช้วิธีดังกล่าวดูจะเป็นสิ่งที่สังคมเห็นด้วย เพื่อลดปัญหาคดีข่มขืน แต่ในทางการแพทย์แล้วนั้นยังคงมีการศึกษาถือเรื่องนี้อย่างเนื่อง เนื่องจากการใช้สารเคมีลดฮอร์โมน ย่อมมีผลข้างเคียงต่อร่างกายต่อผู้ที่ถูกฉีด ทั้งเรื่องของกระดูก สมอง หัวใจ และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามกฎหมาย ‘ฉีดให้ไข่ฝ่อ’ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาตัวกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในขณะที่นานาประเทศได้ศึกษากฎหมายส่วนนี้มีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อหวังที่ลดปัญหาคดีทางเพศให้หมดไป
สิ่งสำคัญที่เรามองข้ามไม่ได้คือการปลูกฝัง ปลูกจิตสำนึกที่นี้แก่เด็กและเยาวชน ถึงการเคารพสิทธิ์ผู้อื่น การแก้ไขข้อกฎหมายให้เหมาะสม เพื่อลดปัญหาในการกระทำความผิดทางเพศ เพราะ คดีข่มขืน ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ข้อมูล :
- กระทรวงยุติธรรม
- www.ncbi.nlm.nih.gov