KEY :
- หลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน ชาติในยุโรปมองว่า ปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นเป็นภายคุกคามในภูมิภาค
- ทำให้ชาติตะวันตกเดินหน้าคว่ำบาตรต่อรัสเซียอย่างต่อเนื่องในหลายภาคส่วน ยกเว้น “ก๊าซ” ที่ยังคงต้องพึ่งพารัสเซียอยู่ในขณะนี้
- รัสเซียได้ตอบโต้มาตรการที่เกิดขึ้นด้วยการออกนโยบายให้ชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลของรัสเซีย
- ซึ่งชาติในยุโรป ระบุว่า จะไม่จ่ายเงินค่าก๊าซเหล่านี้เป็นสกุลรูเบิลอย่างแน่นอน ในขณะที่รัสเซียยื่นคำขาด “ไม่จ่ายเงิน ไม่ส่งก๊าซ”
- ล่าสุด เยอรมนีระบุว่า ได้บรรลุข้อตกลงกับรัสเซียในการชำระค่าก๊าซเป็นสกุลเงินยูโร ผ่านธนาคารก๊าซพรอม (Gazprom Bank) แล้ว
- แต่วิกฤติพลังงานของยุโรป ยังคงต้องดิ้นรนอีกเฮือกใหญ่ กว่าจะสามารถหาจากแหล่งอื่นทดแทนได้ทั้งหมด และต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงขึ้น
…
1 เดือนเศษ หลังจากที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน ทำให้หลายชาติเข้าร่วมการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยเฉพาะยุโรป ที่มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค
ในขณะที่รัสเซียก็ได้ตอบโต้ต่อมาตรการคว่ำบาตรโดยการให้ชาติที่อยู่ในบัญชีดำของรัสเซียต้องซื้อก๊าซด้วยเงินรูเบิลของรัสเซียเป็นหลัก ส่งผลให้ชาติในยุโรปแสดงท่าทีไม่พอใจต่อนโยบายดังกล่าวอย่างมาก และระบุว่า จะไม่ชำระเงินเป็นสกุลเงินรูเบิลอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเยอรมนีระบุว่า เยอรมนีบรรลุข้อตกลงกับรัสเซีย โดยการจ่ายเป็นสกุลเงินยูโรเข้าสู่ธนาคารก๊าซพรอม (Gazprom Bank) ก่อนที่ทางธนาคารจะส่งเงินกลับเข้าสู่รัสเซียในสกุลเงินรูเบิล
แม้ว่าจะปลดล็อค และผ่อนคลายวิกฤติพลังงานลงไปได้บ้าง แต่ยุโรปที่ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งในปี 2021 นั้นสหภาพยุโรปได้นำเข้าก๊าซจากรัสเซียราว 380 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็นกว่า 1.4 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ที่เป็นการนำเข้าผ่านทางท่อก๊าซที่เชื่อมต่อกับรัสเซีย
นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าในรูปแบบของ LNG อีก 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้โดยรวมแล้วยุโรปต้องนำเข้าก๊าซราว 1.55 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีจากรัสเซีย ดังนั้นสถานการณ์ด้านพลังงานของยุโรปจึงอยู่ในสภาวะที่ยังคงต้องพึ่งพารัสเซีย
ลงนามนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงการณ์ถึงข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในการจัดก๊าซในปริมาณ 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ให้กับสหภาพยุโรปในปี 2022 นี้ และจัดส่งในปีถัดไปอีกปีละ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงปี 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า
ซึ่งจากปริมาณที่มีการตกลงกันไว้นี้ ทำให้หลายฝ่ายยังคงมองว่า ปริมาณการนำเข้าก๊าซของยุโรปไม่น่าจะเพียงพอกับความต้องการแต่อย่างใด ยุโรปจำเป็นต้องมีแผนอื่นรองรับนอกเหนือจากนี้
แผนลดพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย
โดยสหภาพยุโรปได้มีการวางแผนในการลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียโดย มองถึงการที่จะไม่ต่อสัญญากับ Gazprom บริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซียที่เป็นผู้จัดส่งก๊าซให้กับยุโรป ซึ่งมีสัญญาที่จะหมดในสิ้นปีนี้ ราว 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
โดยจะมีการจัดหาเพิ่มเติมเข้ามาทดแทน ซึ่งในขณะนี้ ก็จะเห็นว่า เพิ่มเติมจากสหรัฐฯ เข้าในแล้วที่ 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ในปีถัด ๆ ไป นอกจากนี้ยังได้มีการจัดหาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็น อาร์เซอไบจาน และนอร์เวย์ ซึ่งรวมในส่วนที่ต้องหามาทดแทนทั้งหมดนี้ สหภาพยุโรปประเมินไว้ที่ราว 3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ก็จะมีการสำรองก๊าซในช่วงที่มีความต้องการน้อย เช่นในฤดูร้อนให้มากขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพไว้ในช่วงที่ก๊าซเป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วย และสหภาพยุโรปยังมีแผนในการจัดหาพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้
จัดหาทดแทนได้ แต่ไม่ทั้งหมด
ซึ่งหากคาดการณ์ในการหาจากแหล่งอื่น ๆ ร่วมกับสัญญาสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ในปี 2023 – 2030 ก็จะทำให้สหภาพยุโรปจัดหาก๊าซมาใช้ได้ทั้งหมดราว 8.0 หมื่นล้านลบ.ม. แต่ก็ยังคงเหลือส่วนต่างอีกเกือบครึ่ง หากเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ก๊าซของยุโรปในปี 2021 ที่ผ่านมา ดังนั้นในส่วนต่างที่เหลืออีกราวครึ่งหนึ่งของความต้องการที่มีจะจัดหาได้จากที่ไหนบ้าน
แน่นอนว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ความสัมพันธ์ของกลุ่มชาตินาโต้ และกลุ่มชาติอาหรับดูไม่ค่อยสู้ดีนัก จากปัญหาภายในภูมิภาคที่มีการสู้รบกันอยู่ ร่วมกับการวางตัวของชาตินาโต้อย่างสหรัฐฯ ที่มีท่าทีนิ่งเฉยกว่าปรกติ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การโจมตีของกลุ่มกบฎฮูติในเยเมน ต่อคลังน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย
ซึ่งซาอุฯ มองว่า สหรัฐฯ เพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าว ของกลุ่มกบฎฮูติ ที่มีอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนอาวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในการโจมตี รวมถึงการที่ชาติตะวันตกจะบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอาจจะทำให้อิหร่านกลับมาเดินหน้าโครงการนี้ได้อีกครั้ง และนั่นคือ หนึ่งในความไม่พอใจที่เกิดขึ้นต่อชาติตะวันตก ที่อาจจะมีผลต่อในอนาคตของการจัดหาน้ำมันและพลังงานฟอสซิลอื่น ๆ ของสหรัฐฯ และยุโรปได้เช่นกัน
จัดหาได้ แต่ราคาไม่เท่าเดิม
สำหรับการจัดหาจากสหรัฐฯ นั้นจะเป็นในรูปแบบของ LNG หรือเป็น ก๊าซธรรมชาติเหลว ที่ผ่านกระบวนการในการแปรสภาพก๊าซ ให้กลายเป็นของเหลว โดยการลดอุณหภูมิลงไปจนติดลบ 160 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถขนส่งผ่านระบบขนส่งผ่านทางเรือ รถยนต์ หรือรถไฟได้สะดวก และเมื่อมาถึงปลายทางก็จะมีการทำให้ก๊าซเหลวเหล่านี้ จะทำให้ระเหยกลับมาเป็นก๊าซอีกครั้งหนึ่งเพื่อใช้งาน
ในขณะที่การจัดซื้อก๊าซจากรัสเซียนั้น จะเป็นการส่งก๊าซผ่านท่อจากแหล่งผลิตมายังยุโรปโดยตรง ดังนั้นจะเห็นว่า มีกระบวนการที่น้อยกว่า และราคาขนส่งต่อลูกบาศก์เมตรก็จะต่ำกว่ามาก เนื่องจากไม่มีค่าขนส่ง และกระบวนการก็น้อยกว่า
ดังนั้นจะเห็นว่า แม้ยุโรปจะสามารถจัดก๊าซจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ในปริมาณตามที่ต้องการนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ในราคาเดียวกับที่จัดหาจากรัสเซีย โดยเฉพาะการจัดซื้อ LNG จากสหรัฐฯ นั้นน่าจะยิ่งมีราคาที่สูงกว่ามาก แม้ยุโรปจะระบุว่า ในขณะนี้ ก็มีการจัดหา LNG จากประเทศต่าง ๆ อยู่แล้วก็ตาม
เจ็บและยังไม่จบ
จากปริมาณการใช้งานก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะเห็นว่า ยุโรปยังคงต้องเผชิญต่อไป และหากจะปลดล็อกยุโรปจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ยุโรปจำเป็นที่จะต้องจัดหาแหล่งก๊าซแหล่งอื่น ๆ อีกเท่าตัว กับที่คาดว่าจะจัดหาได้ในขณะนี้ ซึ่งยิ่งหาจากแหล่งที่ไกลมากเท่าไหร่ ราคาค่าก๊าซก็จะสูงขึ้นไปเป็นเงาตามตัว
นอกจากนี้ การจัดหาพลังงานทดแทนอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน ก็ยังคงผูกติดกับรัสเซียเช่นกัน เนื่องจากราว 1 ใน 3 ของปริมาณถ่านหินที่รัสเซียส่งออก หรือประมาณเกือบ 80 ล้านตัน จะถูกส่งไปยังยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, ตุรกี และโปแลนด์
ส่วนพลังงานอย่างอื่นเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือลม เป็นพลังงานทดแทนที่มีความไม่แน่นอนในการผลิตอยู่ค่อนข้างสูง จึงยังจำเป็นต่อการพึ่งพาพลังงานจากความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิสเป็นหลัก สำหรับพลังงานนิวเคลียร์นั้น หากจะเริ่มต้นดำเนินการ ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีการก่อสร้าง และดำเนินการต่าง ๆ ให้ได้พลังงานมากเพียงพอต่อความต้องการ
ดังนั้น สถานะของยุโรปในขณะนี้ คงต้องบอกว่า “เจ็บและไม่จบ” อย่างแน่นอน
ข้อมูล
- https://www.iea.org/reports/russian-supplies-to-global-energy-markets/gas-market-and-russian-supply-2
- https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_1511
- https://www.oecd.org/
- https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/03/25/fact-sheet-united-states-and-european-commission-announce-task-force-to-reduce-europes-dependence-on-russian-fossil-fuels/