24 มี.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้สมาคมฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองผึ้ง (อบต.สวนผึ้ง) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า “ธรรมสถาน วิโมกสิวาลัย” หรือวัดท่าไม้ สาขา 2 หมู่ที่ 7 ต.สวนผึ้ง ซึ่งได้ก่อสร้างอาคารชุมนุมคน สถานปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ และถาวรวัตถุมากมายนั้น ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ก่อนหรือไม่
.
ทั้งนี้ เนื่องจากอธิบดีกรมธนารักษ์ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 ที่ผ่านมาและได้ยืนยันผ่านสื่อมวลชนที่ติดตามไปด้วยพบว่า “ธรรมสถาน วิโมกสิวาลัย” ดังกล่าวเข้าบุกรุกยึดถือ ครอบครองอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุจริงประมาณ 38 ไร่ และยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ใดเช่าได้แต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้วงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดิน เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร พ.ศ.2481 โดย กรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฯ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่หวงห้าม เป็นแปลงหมายเลขที่ รบ.553 โดยมอบให้กองทัพบกเป็นผู้ใช้ประโยชน์เพื่อความมั่นคงเท่านั้น
.
ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนั้นแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีการก่อสร้างอาคารชุมนุมคน สถานปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ และสิ่งปลูกสร้างถาวรวัตถุทั้งหลายในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะตาม พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ซึ่งการก่อสร้างอาคารทุกประเภทจะต้องมีแบบแปลนและต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้คือ อบต.สวนผึ้งเสียก่อน โดยต้องมีหลักฐานที่สำคัญที่แสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเจ้าของหรือได้รับอนุญาตให้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินแปลงที่จะทำการก่อสร้างนั้นๆ เสียก่อน
.
แต่เมื่ออธิบดีกรมธนารักษ์ออกมายืนยันชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ใดยึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์แต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าการก่อสร้างอาคาร สถานปฏิบัติธรรม และสิ่งปลูกสร้างถาวรวัตถุทั้งหลายในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถ้ามีใบอนุญาตให้ก่อสร้างแล้วไซร้ อบต.สวนผึ้งก็ต้องมีคำอธิบายตามหลักกฎหมายว่าใช้กฎหมายฉบับใด มาตราใด ในการให้อำนาจสั่งอนุญาตดังกล่าว
.
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงทำหนังสือจี้ไปยัง นายกฯ อบต.สวนผึ้งให้ดำเนินการตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่“ธรรมสถาน วิโมกสิวาลัย” หรือวัดท่าไม้ สาขา 2 หมู่ที่ 7 ต.สวนผึ้ง ดังกล่าวเสียโดยพลัน หากพบว่าไม่มีใบอนุญาต หรือไม่มีการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ก็ให้ดำเนินคดีตามครรลองของกฎหมาย และต้องสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต่อไปด้วย หากไม่ดำเนินการเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อ.มาตรา 157 ได้