ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ กล่าวว่า ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทางด้านยานยนต์ ประกอบกับราคาน้ำมันผันผวน และการรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง และคาดว่าจะทดแทนรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอีกไม่ช้า สอวช. จึงมีนโยบายการส่งเสริม ระบบคมนาคมแห่งอนาคต หรือ Future mobility เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสของคนไทย ที่จะลงมาเล่นเอง แทนที่จะนั่งดูคนอื่นเล่นโดยไม่ทำอะไร ซึ่งขณะนี้ยังเป็นช่วงที่ทุกคนมีต้นทุนเทคโนโลยีที่ยังไม่ทิ้งห่างกันมากนัก ยังสามารถเชื่อมโยงกันได้ รัฐบาลเองก็ได้มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้ไปแล้ว และในส่วนของ สอวช.เองก็ได้ทำสมุดปกขาว และโรดแมป ขึ้นมาโดยทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกใช้และส่งไปให้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เป็นที่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นตอนนี้มันเริ่มเดินหน้าไปได้พอสมควรแล้ว
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในมุมของ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เรื่องของเทคโนโลยี และการพัฒนากำลังคน เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะแข่งขันกับเขาได้ ในส่วนของ สอวช.ได้ทำแล้วใน 2 อย่างคือ 1. สนับสนุนงานวิจัย แบบให้มีสินค้าออกมาจริง มีรถไฟฟ้าต้นแบบ ซึ่งจะต้องช่วยในเรื่องของการตลาดต่อไป เนื่องจากในช่วงแรกต้นทุนการผลิตยังสูง ในอนาคตหากรัฐบาลให้การสนับสนุนราคาจะลดต่ำลง
“ที่สำคัญเทคโนโลยี EV Conversion หรือยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ประเทศผู้ผลิตหลายๆประเทศเขาไม่ได้ทำตลาดกัน ซึ่งมันก็เป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะเปิดตลาดด้านนี้และเป็นสินค้าเพื่อคนไทย และคนอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ อู่ซ่อมรถ ที่ต้องการมีการพัฒนาคนควบคู่ โดย อัพสกิล รีสกิล การซ่อมบำรุงรถด้านนี้ให้กับ เด็กช่าง เด็กอาชีวะ ให้เข้าใจเรื่อง อีวี เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะมาวิ่งกันเต็มท้องถนนในอนาคตอันใกล้” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
ติดตามภาพกิจกรรม ได้ที่ https://youtu.be/E85WPF-P9BM