วันนี้ (21 มี.ค. 65) ที่ บริเวณหน้า กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมด้วย นางรสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร และตัวแทนกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก โดยนำแผงโซล่าเซลล์มาแสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อยื่นข้อเสนอในการ “ แก้ปัญหาพลังงานแพง “ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
.
โดยตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2565 นี้ ที่อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้เมื่อนำค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกที่ 3.76 บาทต่อหน่วย จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าโดยรวมมากถึง 4 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้อัตราค่า Ft ที่จะเรียกเก็บที่ ๒๔.๗๗ สตางค์ต่อหน่วยดังกล่าว ยังมิใช่อัตราค่า Ft ทั้งหมดที่จะถูกเรียกเก็บ เพราะผลการคำนวณค่า Ft ที่ กกพ. ได้พิจารณาไว้แล้วมีค่าอยู่ที่ 129.91 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่าจะมีการทยอยนำไปปรับขึ้นค่า Ft ต่อไปอีกในอนาคตนั้นคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ติดตามศึกษาสถานการณ์ปัญหาราคาพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของประเทศ ไม่ได้มีปัจจัยจากภาวะสงครามหรือราคาก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้นแต่เพียงที่หน่วยงานด้านพลังงานกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอีก คือ
.
ค่าไฟฟ้าแพงเพราะ การวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆของประเทศและของโลก ไม่ได้คำนึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็นหรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ โดยเห็นได้จากปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 46,136.4 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562-2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น หรือมีปริมาณเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 50% ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น จากปัญหาดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ดำเนินการดังนี้
.
ให้ดำเนินการสนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยขอให้ดำเนินการดังนี้
.
1.1 จากเดิมกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ 2.20 บาท/หน่วย ให้เปลี่ยนเป็นระบบเน็ตมิเตอริ่ง หรือระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย เพื่อไม่ให้การไฟฟ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเป็นภาระในการเปลี่ยนหรือเพิ่มมิเตอร์ไฟฟ้า
1.2 ให้ขยายระยะเวลาการับซื้อไฟฟ้าของโซลาร์ภาคประชาชน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10ปี เป็น 20-25ปี หรือตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์
1.3 ให้จัดหาแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการติดตั้งระบโซลาร์เซลล์ได้อย่างแท้จริง
.
ขอให้ยับยั้งและทบทวนการคิดค่า Ft ใหม่โดยด่วน โดยให้ดำเนินดังนี้
2.1 ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้มีค่าซื้อไฟฟ้าสูงถึง 4.00 บาทต่อหน่วย ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเท่ากับการผลิตของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ประมาณ 8,860 ล้านบาทต่อปี
2.2 ปรับลดเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้อยู่ที่ 1.75% ให้ใกล้เคียงกับเงินประกำไรของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
2.3 ควรมีการกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อไว้ที่ 200 บาทต่อล้านบีทียู และกำหนดและค่าประสิทธิภาพที่ 2% ต่อปี เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ถึง 587 ล้านบาทต่อปี
2.4 ให้ปรับโครงสร้าง ราคา Pool Gas ใหม่ โดยนำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติและถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ราคา POOl ก๊าซลดลง และคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี
.
การดำเนินนโยบายด้านพลังงานและการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ ขอให้ตระหนักถึงความมีธรรมาภิบาลอย่างสูงสุด และต้องไม่ให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
.
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีฐานะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 271 องค์กร
ภาพ : #วิชาญโพธิ