คัดลอก URL แล้ว
[THE OPINION] การค้าอาวุธใน “สงครามเย็นครั้งใหม่”

[THE OPINION] การค้าอาวุธใน “สงครามเย็นครั้งใหม่”

KEY :

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เซ็นอนุมัติปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน และเปิดฉากการโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 วันที่ผ่านมา การปะทะกันระหว่างกองกำลังของยูเครน และรัสเซีย ยังคงมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัสเซียได้มีการใช้อาวุธทั้งเก่าและใหม่ ในการเดินหน้ารุกคืบเข้าสู่ยูเครน รวมถึงการใช้อาวุธยุคใหม่อย่าง อาวุธความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวด หรือ Hypersonic Weapon

ในขณะที่กลุ่มชาตินาโต้ ก็ได้รวมกันช่วยเหลือยูเครน ทั้งในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนอาวุธต่าง ๆ เข้าไปในยูเครนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในขณะนี้ บรรดาอาวุธหลากหลายรูปแบบถูกส่งเข้าไปใช้ในการสู้รบครั้งนี้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มอาวุธประทับบ่าเพื่อใช้ทำลายรถถัง ยานเกราะ หรืออากาศยานของรัสเซีย

สถานการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างมากในขณะนี้ ทำให้สถานการณ์ของขั้วอำนาจ บนเวทีโลก เข้าสู่สภาวะตึงเครียดระหว่างประเทศต่าง ๆ มากขึ้น และนำพาโลกเข้าสู่ภาวะของ “สงครามเย็นครั้งใหม่” ที่ไม่ใช่แค่ สหรัฐฯ กับรัสเซียอีกต่อไป

ทุกความขัดแย้งส่งผลต่อการส่งออกอาวุธทั่วโลก

ทำไมถึงกลายเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่

สำหรับในกลุ่มชาตินาโต้ นำโดยสหรัฐฯ และชาติในยุโรป ที่ร่วมกันเดินหน้าคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และสนับสนุนอาวุธให้กับยูเครน ในขณะที่รัสเซียแม้จะดูเหมือนถูกโดดเดี่ยว แต่ในความเป็นจริง รัสเซียยังมี “มิตรสหาย” ที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กันไว้ อย่าง “จีน” แม้ว่า จีนจะแสดงยืนยันการสนับสนุนให้มีการเจรจาหาข้อยุติ และพยายามแสดงออกในการรักษาระดับความขัดแย้งไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้ก็ตาม

แต่ต้องไม่ลืมว่า “สถานการณ์ในทะเลจีนใต้” ก็ไม่ใช่เงียบสงบ แต่ยังคงเป็นเหมือนกับคลื่นใต้น้ำ ที่ยังคงมีแรงกระเพื่อมอยู่ในขณะนี้ จากการที่สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาค ทั้งความสัมพันธ์กับไต้หวัน ที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีการยอมรับสถานะความเป็น “ประเทศ” อย่างชัดเจน ในขณะที่ปักกิ่ง ยืนยันว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้ ยังคงมีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงมิตรประเทศที่ไกลออกไปอย่าง ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร อยู่ในสมการของความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ด้วย

ตลอดเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งจีนและรัสเซีย มีความร่วมมือกันในหลายด้านมากขึ้น ตลอดจนการซ้อมรบในแถบทะเลจีนใต้นี้ด้วย เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่อินเดีย ที่มักจะใช้พื้นที่ในแถบนี้เป็นพื้นที่ฝึกซ้อมรบกันอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาอาวุธของกลุ่มชาติมหาอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในอวกาศ ดาวเทียม ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่ถูกสะสมมาต่อเนื่อง

ดังนั้น หากเราสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะพบว่า

ในปัจจัยที่เกิดขึ้นนี้ จึงใกล้เคียงกับสงครามเย็นที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็น มีชาติกลุ่มขั้วอำนาจสองฝั่ง มีกลุ่มชาติไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด มีการแข่งขันทางทหารและอวกาศ ดังนั้นจึงอาจจะมองได้ว่า

“นี่คือสงครามเย็นครั้งใหม่”

มูลค่าในตลาดอาวุธทั่วโลกเกือบ 90% มาจาก 10 ชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนาโต้

สู่การสะสมอาวุธครั้งใหม่

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความตึงเครียดทางทหารในหลายประเทศทำให้มีความต้องการในการสะสมอาวุธมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลาง และบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้การจัดหาอาวุธต่าง ๆ จึงมีความต้องการขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากที่เป็นการอัปเกรด หรือปลดระวางอาวุธรุ่นเก่า ไปจนถึงการจัดหาใหม่เพิ่มเติม

ในทุกความขัดแจ้งที่เกิดขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้มีการส่งออกอาวุธได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานั้นเกือบ 90% ของมูลค่าการส่งออกอาวุธบนโลกนี้ เป็นลูกค้าของ 10 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มชาตินาโต้

สหรัฐฯ ยังเป็นอันดับ 1

ในตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในฐานะของมือวางอันดับหนึ่งในการส่งออกอาวุธไปยังประเทศต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือ อาวุธ-ยุทโธปรกรณ์ต่าง ๆ ที่มีใช้งานบนโลกนี้ของแต่ละค่าย จะไม่เหมือนกัน ไม่ต่างจากระบบปฏิบัติการบนมือถือ ที่เมื่อเราซื้อระบบใดมาใช้แล้ว การจะเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่นับการเชื่อมต่อระบบเข้าหากัน หากจะต้องใช้ร่วมกันทั้งสองค่าย ยิ่งอาวุธมีความซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ความยากในการเชื่อมต่อระบบระหว่างค่าย หรือกมาย้ายค่าย ก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย

สัดส่วนของการส่งออกอาวุธในรอบ 10 ปี ใน 10 ประเทศที่ส่งออกมากที่สุด

รัสเซียกำลังจะลงจากลำดับ 2

รัสเซียเคยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลก แต่ในระยะหลังนี้ ยอดขายลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจากทั้งการจัดหาจากชาติต่าง ๆ ที่ลดลง ด้วยเหตุผลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ทำให้หลายชาติไม่ได้เลือกซื้อสินค้าของรัสเซีย มีเพียงไม่กี่ชาติที่เป็นลูกค้าประจำ และจัดซื้อจัดหาอาวุธจากรัสเซีย เช่น อินเดีย จีน เวียดนาม

ในขณะเดียวกันในช่วงหลังอาวุธบางอย่าง เช่น เรือดำน้ำ ที่จีนเคยเป็นลูกค้าเดิม ก็สามารถยกระดับในการพัฒนาและสร้างเองได้แล้วในประเทศ จึงทำให้ในส่วนนี้ ถูกลดลงไป รวมถึงตลาดในกลุ่มชาตินาโต้อีกหลายชาติที่เข้ามาเป็นคู่แข่งด้วย ทำให้รัสเซียมีมูลค้าการส่งออกอาวุธที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีหลัง

ฝรั่งเศสกำลังโตขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและอาวุธของฝรั่งเศสดูจะมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม เครื่องบินรบขับไล่ราฟาล ที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทางการ UAE ก็สั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้จำนวน 80 ลำ เปิดต้นปี 2565 นี้ ทางการอินโดนีเซียได้สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้จำนวนถึง 42 ลำ และมีแผนการจัดหาเรือดำน้ำอีก 2 ลำจากฝรั่งเศสเพิ่มอีกด้วย

ในขณะที่อีก 7 ชาติที่เหลือนั้นยังคงดูทรง ๆ กับเม็ดเงินที่ได้จากการส่งออกอาวุธไปยังประเทศต่าง ๆ หรืออย่างอิตาลีที่แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อิตาลีสั่งระงับการส่งออกอาวุธไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุฯ ซึ่งถือว่า ตลาดหลักของอิตาลีเช่นกัน

จับตาเกาหลีใต้ ผู้ส่งออกอาวุธรายใหม่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีการพัฒนาอาวุธในประเทศและบรรจุยุทโธปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศเข้าประจำการเพื่อใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้

การพัฒนาด้านอาวุธของเกาหลีใต้นั้นถือว่า มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และอาวุธหลายอย่างของเกาหลีใต้ถือว่ามีความทันสมัยค่อนข้างมาก และหากมองเฉพาะในช่วง ระหว่างปี 2560 – 2564 เกาหลีใต้ก็เข้ามาติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของการส่งออกอาวุธแล้วด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีนี้ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้มีพัฒนาและบรรจุอาวุธที่ผลิตในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น รถถัง-ยานเกราะ เรือฟริเกต เรือดำน้ำ รวมถึงขีปนาวุธ

ซึ่งในขณะนี้ UAE กำลังถือได้ว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ เพราะในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคำสั่งซื้อขีปนาวุธ, เครื่องบินขับไล่ KF-21 และเฮลิคอปเตอร์โจมตี จากเกาหลีใต้เพิ่มเติมอีก

ระบบโหลดกระสุนปืนอัตโนมัติในปืนใหญ่อัตตาจร K9 Thunder ของเกาหลีใต้ที่พัฒนาขึ้น

ทุกความขัดแย้งมักมีอาวุธ

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในยูเครนขณะนี้ ยังคงมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยูเครน ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มชาตินาโต้และสหรัฐฯ ที่จัดส่งอาวุธเข้าไปเป็นจำนวนมาก ในการปฏิบัติการต่าง ๆ รัสเซียเอง ก็ขนอาวุธ ยานเกราะจำนวนมากมาใช้ในปฏิบัติการนี้เช่นกัน

ใช้แล้วหมดไป ต้องจัดหา

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ต่างจากบันไดขั้นแรกคือ การนำอาวุธมาใช้งาน เมื่ออาวุธเหล่านี้ถูกใช้ไปในการสู้รบ การจัดหาใหม่ย่อมเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งการจัดส่งเข้าไปในครั้งมีมีอยู่จำนวนไม่น้อย ที่ยังคงช่วยให้ยูเครน ยังคงพอที่จะยันแนวปะทะกับรัสเซียไว้ได้ในหลายพื้นที่

ความขัดแย้งบางอย่างสะสมมากขึ้น

ปัญหาความตึงเครียดในภูมิภาคต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ และถูกกระแสข่าวยูเครน-รัสเซียกลบไป เช่น

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น นำพาประเด็นความขัดแย้งบางอย่างให้ตึงเครียดมากขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศ เช่น การที่อิหร่าน ยิงขีปนาวุธเข้าไปในอิรัก โดนอ้างว่า เป็นการโจมตีหน่วยปฏิบัติการลับของอิสราเอล ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสถานกงสุลสหรัฐฯ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความขัดแย้งที่พร้อมจะลุกลามได้ทันทีหากมีเชื้อที่มากพอ

ขั้วการเมืองระหว่างประเทศ

ความตึงเครียดระหว่างประเทศในการที่ สหรัฐฯ – นาโต้ – รัสเซีย – จีน ยังคงคุกรุ่น การจับขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศเริ่มชัดเจนและมีความเคลื่อนไหวกันมากขึ้น และการเมืองระหว่างประเทศที่สร้างแรงกดดันต่อชาติต่าง ๆ ในการเลือกแสดงออกอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มขั้วอำนาจของชาติต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง และการจับกลุ่มหรือขั้วต่าง ๆ นี้เอง ก็เป็นสิ่งที่น่าจะต้องจับตามองถึง “ดุลอำนาจ” ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

เมื่อร่วมกับความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ ก็ยิ่งทำให้หลายชาติ จำเป็นต้องมองถึงความมั่นคงของประเทศให้มากขึ้น

อาวุธขายดี – รายได้ก็เพิ่มขึ้น

แม้ว่า ยูเครน และรัสเซีย สามารถเจรจาและยุติการต่อสู้กันได้แล้ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นำพาโลกไปสู่ “สงครามเย็น” ครั้งใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ และหลายประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้อง “เพิ่มความมั่นคง” ผ่านการจัดซื้อจัดหาอาวุธ เผื่อไว้ใช้ในกรณีจำเป็นก็จะมีเพิ่มสูงขึ้นด้วย

และในทิศทางของการส่งออกอาวุธที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็คงจะเป็นการจัดซื้อ จัดหาจากชาติที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่นั่นเอง เม็ดเงินเหล่านี้สร้างกำไรให้กับผู้ผลิตได้อย่างมากมาย เนื่องจากอาวุธหลายชนิด สั่งซื้อแล้วต้องรอคิวนานเป็นพิเศษ เช่น

F-35 ของสหรัฐฯ ที่ถือว่า เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ในช่วงปีที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อจากหลายประเทศ และมีความต้องการที่สูงมาก ล่าสุด ( 14 มี.ค. 65) เยอรมนี เพิ่งสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ลำ ยังไม่นับที่อีกหลายประเทศสั่งซื้อรออยู่ เช่น ฟินแลนด์ที่สั่งล็อตใหญ่ จำนวนถึง 64 ลำ

นอกจากนี้ อาวุธยุคใหม่อย่าง โดรนโจมตี ที่ถูกใช้ในการสู้รบระหว่าง อาร์เซอร์ไบจาน – อาร์เมเนีย รวมถึงในยูเครนนี้ด้วย ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากอีกเช่นกัน

แต่ไม่ว่า จะเป็นแบบใด ระบบใดสุดท้าย อาวุธที่หลายประเทศจัดหา ก็ไม่พ้นที่จะเป็นเงินได้ให้แก่ประเทศมหาอำนาจเช่นเดิม


ข้อมูล – SIPRI


ข่าวที่เกี่ยวข้อง