คัดลอก URL แล้ว
ชาวนาเดือดร้อนหนัก ปุ๋ยแพง! ทำต้นทุนพุ่งกว่า 1,000 บาทต่อไร่ ‘เพื่อไทย’ แนะรบ.ตรวจสอบราคา-คุณภาพจริงจัง ลั่นทำไม่ได้ก็ยุบสภา

ชาวนาเดือดร้อนหนัก ปุ๋ยแพง! ทำต้นทุนพุ่งกว่า 1,000 บาทต่อไร่ ‘เพื่อไทย’ แนะรบ.ตรวจสอบราคา-คุณภาพจริงจัง ลั่นทำไม่ได้ก็ยุบสภา

ชาวนาอยุธยาเดือดร้อนหนัก บ่นกำไรเหลือน้อย-ไม่พอกิน หลังปุ๋ย-น้ำมัน และยาแพง ทำต้นทุนปลูกข้าวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1,000 บาทต่อไร่ วอนกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการลดราคาปุ๋ยช่วยเหลือเร่งด่วน ขณะที่ ‘เพื่อไทย’ แนะรบ.ตรวจสอบราคา-คุณภาพจริงจัง ลั่น ‘ทำไม่ได้ก็ยุบสภา’

.

สำหรับต้นทุนปลูกข้าวของชาวนาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาขณะนี้ พบว่า เฉพาะราคาปุ๋ยยูเรียขนาดกระสอบ 50 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับต้นปี 2564 มีการปรับขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวไปแล้ว โดยเฉพาะสูตร 46-0-0 จาก 600 บาท ขึ้นเป็น 1,400 บาท ขณะที่สูตร 16-20-0 ปรับขึ้นราคาจาก 640 บาท เป็น 900 – 1,000 บาท

.

นายนพดล สว่างญาติ ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินช้างใหญ่ จำกัด บอกว่า ก่อนหน้านี้ชาวนาปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นนุ่ม กข 87 จะมีต้นทุนการปลูกตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยวรวมค่าขนส่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,700 บาทต่อไร่ เหลือกำไร 1,500 – 2,000 บาทต่อไร่ ถ้าปลูกข้าว 10 ไร่จะมีกำไร 20,000 บาท ทั้งนี้ หนึ่งปีปลูก 2 ครั้งจะมีกำไร 40,000 บาท แต่ปีนี้ คาดว่าจะเหลือกำไรจากการขายข้าวไร่เพียงละประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น

.

นายนพดล ระบุต่อไปว่า นอกจากต้นทุนปุ๋ยที่แพงขึ้นแล้ว ต้นทุนด้านอื่นๆ ทั้งค่าจ้างเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าวิดน้ำ ค่าสารเคมี ค่าฉีดยา และค่าขนส่ง ก็ปรับขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาดูแล และพิจารณานำโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกรกลับมาดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวนาในช่วงวิกฤตปุ๋ยแพงเช่นนี้

.

ขณะที่วานนี้ (18 มี.ค. 2565) นางสาวอรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีราคาปุ๋ยเคมีแพงอย่างต่อเนื่องว่า กรณีนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในระบบ 9.2 ล้านราย มีรายรับที่ไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่ขยับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 สะท้อนได้จากหนี้สินเกษตรกรในปี 2564 เฉลี่ยรายละ 262,317 บาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 16.54

.

ทั้งนี้ ยิ่งเลวร้ายหนักเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เพราะประเทศไทยมีการนำเข้าอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีจากจีนและรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่เกษตรกรไทยมีต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิต  ดังนั้นการที่ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นด้วย ตนอยากเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

.

 1.เข้าไปตรวจสอบราคาขายปลีกอย่างจริงจัง ตรวจเช็คราคาหน้าโรงงาน ค่าการขนส่ง  มีช่องว่างที่จะทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ก่อนปุ๋ยถึงมือเกษตรกร

2. ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยอย่างอย่างเข้มงวด ควบคู่กับมาตรการควบคุมราคา เพราะเมื่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าราคาสูง การคงอัตรากำไรของเอกชน คือการลดต้นทุนใช่หรือไม่  ถ้าเพิ่มราคาไม่ได้และรัฐบาลยังไม่จ่ายชดเชย การลดคุณภาพสินค้า คือวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เอกชนบางรายเลือกใช้เพื่อให้ได้กำไร  รัฐบาลจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย

 3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจเช็คสต็อกสินค้า เช็คการนำเข้าวัตถุดิบ ป้องกันมาตรการการกักตุนและสินค้าขาดตลาด

.

“ 7 ปีที่สิ้นหวัง สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรอยากเห็น คืออนาคตที่ดีกว่า ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำไม่ได้ แนะนำให้ยุบสภาก่อนเปิดอภิปรายในเดือน พ.ค.นี้ เพราะพรรคเพื่อไทยพร้อมนำเสนอนโยบายดีๆ เพื่อเป็นความหวังให้พี่น้องเกษตรกรไทย” นางสาวอรุณีกล่าวทิ้งท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง