วันนี้ 8 มีนาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงคราม ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 17/2563 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 7 โจทก์ โดยนายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต) ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือน้องโยโย่ เป็นโจทย์ร่วม กับร้อยเอกกณพ อยู่สุข จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 9 ราย ประกอบด้วย นายสมชาย อำภา จำเลยที่ 2 จ่าเอกกีรดิต สุริโย จำเลยที่ 3 นายรัชเดช เถาว์เพ็ง จำเลยที่ 4 นายวัชรพงษ์ วงษ์สุวรรณ จำเลยที่ 5 พ.ต.อ.อโนทัย ศาสตร์สง่า จำเลยที่ 6 พ.ต.อ.ประพงษ์ ภูฮง จำเลยที่ 7 ร.ต.อ.พิพัฒน์ เยาวเรศ จำเลยที่ 8 และนายสุพร ธนบดี จำเลยที่ 9 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฎิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย รับอันตรายสาหัส ป.อาญา มาตรา 83, 86, 157, 291, 300 พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา3, 11
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่มีเจตนาพิเศษที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่กองบินตำรวจ จึงไม่มีความผิด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 9 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ด้วย ส่วนความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานของรัฐ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีหน้าที่ติดตั้งสลิงจึงไม่มีความผิด จำเลยที่ 9 แม้มีหน้าที่ติดตั้งสลิงตามสัญญาจ้าง แต่ขาดเจตนาพิเศษที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่กองบินตำรวจและบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) จึงไม่เป็นความผิด
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300 จำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดหาสลิงแต่ไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันติดตั้งสลิงทั้งที่ทราบว่าไม่มีใบรับรองและไม่มีการทดสอบคุณภาพเพื่อให้ทราบถึงแรงดึงของสลิง แต่มิได้ตรวจสอบ ทั้งไม่ได้ทดสอบคุณภาพของสลิง และจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ดูแลซ่อมบำรุงและอยู่ด้วยในขณะมีการติดตั้งสลิง แต่ไม่ได้สอบถามแหล่งที่มาของสลิง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำโดยประมาท ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมการติดตั้งและไม่ได้อยู่ด้วยในขณะติดตั้งจึงไม่มีความผิด พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) ,300 (เดิม) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฏหมายหลายบทให้ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 1
นายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือ ‘น้องโยโย่’ กล่าวภายหลังศาลตัดสินว่า ตนต่อสู้มายาวนานมาเกือบ 8 ปี พบอุปสรรคพอสมควร แต่การตัดสินวันนี้จำเลยถูกลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ซึ่งตนเห็นถึงความสว่างทางกระบวนการยุติธรรม ในระดับที่พอใจ จากนี้ไปเมื่อจำเลยขออุทธรณ์ ตนก็จำเป็นต้องอุทธรณ์ ด้วย
ก่อนหน้านี้ เวลา 08.30 น.นายสาธร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเข้าไปฟังคำพิพากษา โดยกล่าวว่า จากการสืบพยานในชั้นศาล และจากการให้ปากคำของจำเลย ตนมีความมันใจว่าวันนี้ จะต้องมีคนที่ได้รับโทษทางอาญา ซึ่งตนเชื่อว่าสาเหตุมาจากลวดสลิงแน่นอน สืบเนื่องจากว่าสลิงที่นำมาติดตั้งบนเครื่องบินไม่ใช่ของแท้ ที่ใช้กับเครื่องบินคาซ่าลำที่เกิดเหตุ ก่อนกระโดดร่มกองบินตำรวจได้ตรวจสอบด้วยการใช้ผ้ารูดไปที่สลิง พบว่าผ้าขาด แล้วพบว่าสลิงเกิดความเสียหาย จะต้องเปลี่ยน
ขณะที่กองบินตำรวจมีสลิงของแท้จากประเทศสเปน จำนวน 2 เส้นๆละ 98,000 บาท และเก็บไว้ในสต๊อกของกองบินตำรวจ ซึ่งสามารถนำติดตั้งบนเครื่องบิน แต่กองบินตำรวจไม่ได้เอาของแท้มาเปลี่ยนบนเครื่องบินคาซ่าลำที่เกิดเหตุ แต่บริษัทอุตสาหกรรมการบินกลับให้เจ้าหน้าที่ไปหาสลิงตามท้องตลาดมาใส่ เป็นของปลอมเส้นละ 4,800 บาท มาติดตั้งแทนจึงทำให้ไม่มีมาตราฐาน รวมทั้งการซ่อมก็ไม่มีมาตราฐาน
โดยดัดแปลงนำสลิงดังกล่าวมาตัดและเจียให้ปลายแหลมไปใส่กับหัวยึดเดิม แล้วใช้เครื่องมือบีบปลอกจนแน่น แล้วนำไปติดตั้งบนเครื่องบิน เมื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจกระโดดร่วมลงมาปกติสลิงจะดึงฝาร่มเปิด แต่เมื่อสลิงเป็นของปลอมไม่ได้มาตราฐาน ทำให้สลิงหลุดมาทั้งพวง เป็นสาเหตุให้ร่วมไม่กาง นักเรียนนายร้อยตำรวจตกลงมาเสียชีวิต จากกรณีดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นแน่นอน คดีนี้ส่งมาที่ศาลทุจริตและประพฤติมีชอบ จึงส่องให้เห็นแล้วว่า “ทุจริตและประพฤติมิชอบ จะด้วยประมาทเลินเล่อ หรือ ด้อยคุณภาพในการซ่อม หรือ มีการทุจริต ต้องรอฟังคำตัดสิน แต่ปัญหาเกิดจากสลิงนี้แน่นอน
นายสาธร กล่าวด้วยว่า ตนมีบุตรคนเดียว ซึ่งตนดูแลเลี้ยงดูอย่างดีตั้งแต่เกิด ฝึกทักษะต่างๆให้บุตรมากมาย ทั้งด้านการเรียนการออกกำลังกาย การสูญเสียจึงเป็นความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตของตน จนถึงบัดนี้ความรู้สึกเหล่านั้นก็ยังไม่เจือจางหายไป เส้นทางการต่อสู้ครั้งนี้ยาวนานมาก วันที่ 31 มีนาคม 2565 จะครบรอบ 8 ปีเต็ม เหตุผลที่ต่อสู้ประการแรก ตนไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่ต้องการนำคนผิดมาลงโทษ ให้รับโทษทางอาญา ไม่ว่าประมาท หรือ ทุจริต ก็ต้องได้รับการลงโทษ เพราะผลเป็นอย่างไรลูกก็ไม่ฟื้น แต่สู้เพื่อให้เกิดความตระหนักในสังคม
หากกรณีนี้มีคนรับผิดติดคุก ต่อไปหน่วยงานต่างๆ จะระมัดระวังมากขึ้น และสู้เพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นต่อๆไป จะได้ไม่ต้องมาเสี่ยงชีวิตแบบนี้อีก การดำเนินคดีอาญาครั้งนี้ ตนอ่านสำนวนคำให้การทั้งพยานและจำเลยด้วยตนเอง ดูจากพฤติกรรมของจำเลยแล้วตนมั่นใจว่า วันนี้จะมีคนได้รับโทษทางอาญาแน่นอน