มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ครัวเรือน อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จะสิ้นสุด 31 มีนาคมนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคา LPG ไปแล้วถึง 25,218 ล้านบาท รวมถึงดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ ติดลบไปแล้ว 16,052 ล้านบาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หากไม่มีการอุดหนุน / ราคา LPG ที่แท้จริงจะสูงถึง 434 บาทต่อถัง แต่เมื่อเงินกองทุนติดลบ จึงมีแนวโน้ม ว่า หลังสิ้นสุดช่วงตรึงราคา อาจต้องทยอยปรับราคา LPG ขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัมทุกไตรมาส หรือปรับขึ้นรอบแรกจาก 318 บาท เป็น 333 บาทต่อถัง และขยับขึ้นไปอีก 30 บาท เป็น 363 บาทต่อถัง แต่ก่อนถึงช่วงเวลานั้น ต้องพิจารณาผลกระทบค่าครองชีพประชาชนด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังมีแนวคิดอุดหนุนราคา LPG ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มอีก 55 บาท จากเดิมกระทรวงการคลังอุดหนุนอยู่ 45 บาท รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน แต่ต้องหาข้อสรุปเรื่องแหล่งเงินให้ได้ภายในเดือนนี้
อ่านต่อ
ส่วนทิศทางค่าไฟฟ้าในปี 65 มีการส่งสัญญาณจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ว่าจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ตามความต้องการใช้พลังงาน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เบื้องต้น คาดว่าราคาน่าจะขยับขึ้นเล็กน้อย ซึ่ง กกพ. จะพยายามหาวิธีดูแลค่าไฟประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ กกพ. มีมติเรียกเก็บค่าเอฟที งวดมกราคม – เมษายน 65 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี