นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ รองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่คงจะขยายตัวไม่ถึง 4% แน่ แต่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่าไหร่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนเท่าไร แต่รัฐบาลกลับประกาศวันที่ 1 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาทหรือเรียกค่าดังกล่าวว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เป็นค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อเดินทางเข้ามาสู่ประเทศ โดยนำเงินค่าเหยียบแผ่นดินดังกล่าว ไปเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้เงินเก็บเข้ากองทุนฯ จำนวน 1.5 พันล้านบาท รวมไปถึงการแบ่งค่าเหยียบแผ่นดินส่วนหนึ่งออกมาเป็นค่าประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ทั้งนี้ การเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก เพราะจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำเป็น อาจสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกและสร้างผลทางจิตวิทยากับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหันไปเที่ยวประเทศอื่นแทน คล้ายเป็นการเพิ่มภาระและอาจผลักมิตรให้ไปเป็นศัตรูหรือไม่ เพราะช่วงเวลานี้ประเทศไทยควรต้องทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าใช่หรือไม่ มากกว่าจะมาคิดเพิ่มภาระให้กับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราคาต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆในการท่องเที่ยวประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีราคาที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ เช่น ราคาอาหาร ก๊าซหุงต้ม ราคาน้ำมัน และค่าเดินทาง เป็นต้น ทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณของนักท่องเที่ยวลดลงอยู่แล้วตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและภาวะการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหลังวิกฤตไวรัสโควิด
นอกจากนี้ จากภาวะเงินเฟ้อของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐที่เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมสูงขึ้นถึง 7% ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม โดยสหรัฐอาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ซี่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการของไทยที่ต้องแบกรับภาระต่อเนื่องมากว่า 2 ปี จะยิ่งต้องแบกภาระหนักกว่าเดิม และอาจจะแบกภาระกันต่อไม่ไหว ทั้งนี้เพราะภาระที่เกิดจากการล็อกดาวน์และเกิดจากโรค “ลักปิดลักเปิด” ที่รัฐบาลเปิดๆปิดๆประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระหนักจากหนี้สินและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับแต่แทบไม่มีรายได้เข้ามาเลย ดังนั้นพลเอกประยุทธ์จะต้องคิดล่วงหน้าว่าจะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดและทำธุรกิจต่อได้ในอนาคต
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของโลกที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจของไทยเป็นเศรษฐกิจเล็กและเปิด จะทำให้ระดับราคาที่สูงขึ้นในต่างประเทศจะส่งผลทันทีต่อระดับราคาในประเทศไทยทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในวิกฤติโควิดนี้ยิ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตที่การผลิตปรับตัวไม่ทันความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้นในที่สุด ซึ่งเงินเฟ้อกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกโดยธนาคารกลางสหรัฐก็ตระหนักถึงเรื่องนี้และกำลังมีมาตรการที่จะลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วขึ้นน่าจะอีกไม่นานนี้ เพื่อนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในต้นปีนี้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะเจอทั้งเรื่องเงินเฟ้อที่จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและยังต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เป็นภาระที่จะเพิ่มขึ้นพร้อมกัน
ดังนั้น แนวคิดการจะเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” น่าเป็นแนวคิดของคนที่หารายได้ไม่ได้และบริหารประเทศไม่เป็น เพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวจะเข้ามาอยู่แล้ว แต่กลับยังคิดจะเก็บเล็กเก็บน้อย แทนที่จะคิดว่าจะสร้างเศรษฐกิจไทยให้โตได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย รวมถึงการลงทุนในประเทศ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว แต่รัฐกลับมาคิดหารายได้กับการเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวควรรวมอยู่ในค่าประกันโควิดที่ต้องจ่ายก่อนเข้าเมืองไทยจำนวนถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้วด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์คิดไม่เป็นและดำเนินการเหมือนจะสะดุดขาตัวเองหลายครั้งมาโดยตลอด ทำให้เกิดแผลหลายแผลซ้ำซากซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่มาตลอด จนเป็นการยากที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาและเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลควรจะต้องคิดทบทวนและยกเลิกมาตรการดังกล่าวและต้องหัดคิดให้เป็น โดยควรต้องสร้างความเชื่อมั่นมากกว่าที่จะทำลายความมั่นใจและบั่นทอนชีวิตและความสุขของคนไทยไปเรื่อยๆแบบที่เป็นอยู่นี้