หนึ่งในปัจจัยที่จะนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้ นอกจากนวัตกรรมทางสังคม หรือการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเข้มแข็งแล้ว การสร้างนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มกำลังใจ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการและผู้ต้องการเลิกบุหรี่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน แพทย์หญิงสุธี สฤษฎิ์ศิริ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) และผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนวัตกรรม “ภูเขาไฟสู้ภัยบุหรี่ : เครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ของทีมสหวิชาชีพ” ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “นวัตกรรมชวน ช่วย เลิก : การพัฒนานวัตกรรมเพื่อหนุนเสริมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด” ว่า บุหรี่ก่อเกิดโรคต่าง ๆ ตั้งแต่มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่คือบุหรี่ไฟฟ้า ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มวัยรุ่นทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่อายุยังน้อย ทำให้มีความตระหนักว่า หากมีการเริ่มสูบในอายุน้อยจะทำให้เลิกได้ยาก ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องของบุหรี่มือสองและมือสามที่หลายคนยังไม่ทราบด้วย จึงทำให้เกิดการทำงานของทีมสหวิชาชีพ ที่ประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ ที่ทำงานร่วมกัน โดยคัดกรองทุกคนที่เข้ารับบริการในคลินิกว่า สูบบุหรี่หรือไม่ หากพบว่าสูบบุหรี่ก็จะเริ่มการชักชวนให้เลิก หากยังไม่พร้อมก็จะทำสัญลักษณ์ไว้บนปก OPD Card เพื่อให้ความรู้เบื้องต้น ซึ่งจะนำไปสู่การเลิกบุหรี่ในภายหลัง หากมีความพร้อมต้องการเลิก ก็จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ยังได้จัดสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ด้วย เช่น ติดข้อเตือนใจไว้ให้เลิกบุหรี่ที่พนักพิงเก้าอี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ฉุกคิด รวมทั้งให้บริการวัดค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจออก เพื่อให้ทราบว่า หากเลิกบุหรี่ได้ จะทำให้ค่าลมหายใจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือทีมสหวิชาชีพได้ชวนทุกคนเลิกบุหรี่ ด้วยการสร้างแรงจูงใจเกิดความนึกคิดด้วยตนเองเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตระหนักถึงบุคคลในครอบครัวมากขึ้น
นวัตกรรมภูเขาไฟสู้ภัยบุหรี่ เป็นการจำลองแบบของภูเขาไฟขึ้นมา ส่วนที่อยู่บนสุดคือ “ธงชัย” ที่ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด คือ การเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด มีการแสดงภาพผลร้ายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในเมื่อสูบบุหรี่เป็นเวลานาน หรือให้เห็นว่าบุหรี่ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง มีสารพิษแบบใด พร้อมกับการพูดคุยแบบถามตอบกับผู้สูบบุหรี่ว่า มีความเข้าใจต่อพิษภัยของบุหรี่มากน้อยอย่างไร เช่น ถามผู้สูบว่า ทราบหรือไม่ว่าบุหรี่มีสารอะไรที่เป็นอันตรายบ้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการรื้อฟื้นความคิดของผู้สูบได้คิดคล้อยตามกับผู้ชักชวนให้เลิกได้มากขึ้น จากนั้นเริ่มการชักชวนสร้างแรงจูงใจให้เลิกบุหรี่เริ่มต้นจากการประเมินตนเองว่า อยู่ระยะไหนของการเลิกบุหรี่ พร้อมกับประเมินผู้เข้ารับการบำบัดโดยใช้ Stage of change เพื่อเสริมสร้างกำลังใจและความมุ่งมั่นเพื่อเลิกบุหรี่ต่อไป จากการใช้งานจริง พบว่าผู้สูบบุหรี่ที่เข้ารับคำปรึกษา มีกำลังใจในการที่จะเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะเห็นภาพชัดเจนว่า ตนเองอยู่ในขั้นตอนไหน และกำลังจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรบ้าง
นายภูเบศ ภู่รัก และ นางสาวปรมา วัชรประภาวงศ์ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง ได้นำเสนอนวัตกรรม “ลูกอมตะลิงปลิงลดระดับสารนิโคติน” ว่า ที่มาและความสำคัญของการจัดทำนวัตกรรมชิ้นนี้ คือ ตรังอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 10 จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่มากที่สุด รวมถึงสถิติการสูบบุหรี่ในภาคใต้อยู่ในอัตราร้อยละ 23.44 สูงกว่าระดับประเทศ โดยมีพื้นที่ 4 อำเภอที่พบการสูบมากที่สุดคืออำเภอห้วยยอด นาโยง ย่านตาขาว และประเหลียน โดบงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ที่เปรียบเทียบระดับสารนิโคติน และคุณภาพชีวิตของผู้สูบบุหรี่ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้กลุ่มทดลองใช้ลูกอมตะลิงปลิงเพื่อลดความอยากบุหรี่ลง จากนั้นทำการวัดค่าสารนิโคตินในร่างกายผ่านเครื่องวัด ประกอบกับข้อมูลแบบสอบถาม สมุดบันทึกการบริโภคลูกอม และแบบสอบถามการวัดระดับคุณภาพชีวิต
โดยได้ทดลองวิจัยในกลุ่มตัวอย่างของผู้สูบบุหรี่ในจังหวัดตรัง จำนวน 52 คน พร้อมคัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองแบบเจาะจง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สมัครใจเลิกสูบบุหรี่ ที่มีระดับนิโคตินที่ระดับ 7-10 ppm ระยะเวลาการสูบนานมากกว่า 2 ปี แล้วแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 26 คน ในโรงพยาบาลสองแห่งคือ โรงพยาบาลชุมชนอำเภอนาโยง กับ โรงพยาบาลชมชนอำเภอห้วยยอด จากนั้นเก็บข้อมูลเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์ แล้ววัดระดับนิโคตินซ้ำ พร้อมประเมินคุณภาพชีวิตจากแบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูล
ผลจากการทดลอง พบว่า หลังจากรับลูกอมตะลิงปลิงแล้ว กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยของสารนิโคตินต่ำกว่า และมีค่าคะแนนคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งจากการอภิปรายผลวิจัยพบว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าคะแนนทางสถิติออกมาในรูปแบบนี้ คือ สารรสเปรี้ยวในตะลิงปลิงสามารถนำมาใช้ลดอาการถอนนิโคติน และมีประสิทธิภาพในการช่วยลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลงได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยน พฤติกรรมลด ละ เลิกบุหรี่ และนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านอารมณ์ สังคม สุขภาพจิต การมีชีวิต และการรับรู้สุขภาพทั่วไปด้วย ทำให้ผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลจากโครงการประกวดนวัตกรรมหรือโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาประจำปี 2564 จากเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมได้รับทุนพัฒนาต่อไปในอนาคตอีกด้วย