คัดลอก URL แล้ว
แนะนำ 4 วิธีตรวจสอบหมายเรียกปลอม ป้องกันมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกผู้เสียหายโอนเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัว

แนะนำ 4 วิธีตรวจสอบหมายเรียกปลอม ป้องกันมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกผู้เสียหายโอนเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัว

จากกรณีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน อ้างว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต ส่งของผิดกฎหมายบ้าง และแสดงบัตรตำรวจปลอม หรือหมายเรียกปลอม จากนั้นให้โอนเงินให้ หรือส่งข้อมูลส่วนตัวให้นั้น ตำรวจสอบสวนกลาง แนะนำขั้นตอนการตรวจสอบว่าหมายเรียกที่ได้รับเป็นของจริง หรือของปลอม ดังนี้

ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจ เพราะหมายเรียก เป็นแค่การเรียกไปพบพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้หมายความว่าตกเป็นผู้ต้องหา (ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา) แต่ถึงแม้ว่าจะได้รับหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหา ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาได้เมื่อไปพบพนักงานสอบสวน


ตรวจสอบหมายเรียกว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ ได้แก่ สถานที่ออกหมาย, วันที่ที่ออกหมาย, ชื่อและที่อยู่ของพนักงานสอบสวนที่ออกหมาย, สาเหตุที่เรียกไปพบ, สถานที่และวันเวลาที่นัดหมายให้ไปพบ และลายมือชื่อพร้อมตำแหน่งของพนักงานสอบสวน (ป.วิ.อาญา ม.53)


เพื่อให้มั่นใจว่า พนักงานสอบสวนที่อยู่ในหมายเรียกนั้นเป็นตำรวจจริง ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สถานีตำรวจที่พนักงานสอบสวนประจำอยู่ เพื่อสอบถามว่ามีพนักงานสอบสวนคนนี้อยู่ที่สถานีตำรวจจริงหรือไม่ โดยสามารถค้นหาเบอร์สถานีตำรวจได้จาก https://www.royalthaipolice.go.th/station.php


หากทางสถานีตำรวจยืนยันว่ามีพนักงานสอบสวนที่ออกหมายเรียกปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีตำรวจจริง ให้ขอเบอร์ติดต่อจากสถานีตำรวจนั้น เพื่อติดต่อไปตรวจสอบว่าพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกจริงหรือไม่ ถ้าเป็นหมายเรียกจริง ก็พูดคุยเพื่อนัดหมายวันและเวลาที่จะเข้าไปพบพนักงานสอบสวนต่อไป แต่หากพบว่าเป็นหมายเรียกปลอม ให้นำหมายเรียกปลอม ติดต่อเข้าแจ้งความสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ได้รับหมายเรียกปลอมนั้น เพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเกี่ยวกับการใช้เอกสารราชการปลอม
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นหมายเรียกจริง แต่ไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนตามวันและเวลาที่กำหนด กรณีเป็นหมายเรียกพยานอาจมีความผิดที่ไม่มาตามหมายเรียก แต่ในกรณีที่เป็นหมายเรียกผู้ต้องหา อาจเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนร้องขอต่อศาลเพื่ออนุมัติออกหมายจับต่อไปได้ (ป.วิอาญา ม. 66)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง