จากเหตุที่ประเทศเผชิญวิกฤติโควิด-19 และอยู่ในช่วงที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อกำชับของนายกรัฐมนตรี ในการบริหารจัดการงบประมาณ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะงบประมาณปีนี้ กองทัพอยู่ในหน่วยงานลำดับต้น ๆ ที่ถูกปรับลดงบประมาณ แต่มีเพียงกองทัพอากาศนำงบประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องบินโจมตีแบบเบา จำนวน 8 เครื่อง จากสหรัฐอเมริกา
พลอากาศตรี ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจง 4 เหตุผลการจัดซื้อเครื่องบิน คือ ทดแทนเครื่องบินแบบ L-39 ที่ปลดประจำการ ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้สามารถนำชิ้นส่วนใช้งานกับอากาศยานที่มีอยู่ได้ การจัดซื้อทำตามข้อตกลงคุณธรรมจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และกรมบัญชีกลาง และขณะนี้กองทัพอากาศได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อแล้ว ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2564
โฆษกกองทัพอากาศ ย้ำว่า การจัดซื้อเครื่องบินโจมตีแบบเบา มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างกองทัพอากาศ หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ, ผู้ประกอบการสหรัฐฯ และคณะผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมตรวจสอบตามขั้นตอน และกระบวนการจัดหาเป็นไปอย่างถูกต้อง-โปร่งใส และตรวจสอบได้
ขณะที่นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ชี้ว่า การจัดซื้อเครื่องบินโจมตีของกองทัพอากาศ เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 อีกทั้งการจัดซื้อก็เป็นไปตามแผนพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งในอนาคตอาจมีการจ้างงานทำให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนภายในประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธ
และตามการอ้างอิงของบริษัทเท็กซ์ตรอนฯ ระบุว่า กองทัพอากาศไทยเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกที่สั่งซื้อเครื่องบินโจมตีขนาดเบา แบบ AT-6 จำนวน 8 เครื่อง ด้วยงบประมาณกว่า 4,600 ล้าบาท รวมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดินอะไหล่ การฝึก และอุปกรณ์อื่นๆ