ปิดตำนานอย่างไม่มีวันหวนคืน สำหรับโรงหนังสกาล่า โรงหนังสแตนอะโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ แม้จะถูกล้อมรั้ว แต่การเข้าไปทุบทิ้ง รื้อถอน ของเอกชนเมื่อวาน ก็เกิดขึ้นท่ามกลางประชาชนจำนวนหนึ่งไปติดตามการรื้อถอน
- เริ่มทุบทิ้ง “โรงหนังสกาลา”
คลิปวิดีโอบรรยากาศภายในโรงหนังถูกโพสต์ในทวิตเตอร์ จากผู้ใช้บัญชี ที่มีชื่อว่า คนรับใช้ถ้อยคำ ที่ทำให้เห็นช่วงหนึ่งของการรื้อถอนที่ทำให้แฟนภาพยนตร์ และคนที่เติบโตมาพร้อมโรงหนังสกาล่า ยอมรับว่าสะเทือนใจ และแสดงออกถึงการระลึกถึงสกาล่าผ่านทางโซเชียลมีเดีย
นี่เป็นความเคลื่อนไหว หลังจากบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด มหาชน ได้สิทธิเช่า พื้นที่ บล็อค เอ เขตพาณิชย์ ย่านสยามสแควร์ เป็นเวลา 30 ปี โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้วกว่า 5,900 ล้านบาท
มีเสียงทวงถามว่า ทำไมถึงทุบ ทั้งๆที่เคยปรากฏข่าวว่าจะไม่ทุบ หนังสือพิมพ์มติชน รายงานว่า แหล่งข่าวว่า พื้นที่จะถูกออกแบบให้เป็นโครงการแบบมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน สูง 20 ชั้นขึ้นไป จึงจำเป็นต้องทุบสกาล่าทิ้ง เพื่อสร้างโครงสร้างใหม่
-“สกาลากับความบันเทิงคนกรุงเทพฯ” ผ่านงานวิจัย
ส่วนหนึ่งของงานวิจัย โรงภาพยนตร์กับวัฒนธรรมภาพยนตร์กรุงเทพฯ พ.ศ. 2500-2520 โดยนายปฏิพัทธ์ สถาพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2560 พูดถึงสกาล่า ท่ามกลางบริบททางประวัติศาสตร์ของโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงเวลานั้นภาพยนตร์ฮอลีวูดไม่สามารถนำเข้ามาฉายได้ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาจัดฉาย และเป็นช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมหลังภาวะสงคราม
ปี 2510 กรุงเทพฯเติบโตอย่างมาก ถนนสุขุมวิท กลายเป็นสายหลักเชื่อมต่อกรุงเทพ กับตะวันออก เริ่มต้นสถานะทางเศรษฐกิจให้กับย่านปทุมวัน และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนเริ่มกลับมาอาศัยในกรุงเทพมากขึ้น โดยในปี 2490 มีประชากร 7 แสน 8 หมื่นคน เพิ่มเป็น 1.8 ล้านคนในปี 2503 และ 2 ล้านคนในปี 2510
ในช่วงปี 2500-2520 ปทุมวัน เป็นย่านศูนย์รวมความบันเทิงและการค้า ธุรกิจโรงภาพยนตร์เติบโตมาก โดยมีสกาลา เปิดให้บริการในปี 2512 เป็น 1 ใน 3 โรงภาพยนตร์ บนจุดดึงดูดย่านการค้าแนวราบ ของปทุมวันสแควร์ หรือ สยามสแควร์
สกาลา สะท้อนความนิยมของการสร้างโรงภาพยนตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ มีที่ตั้งเป็นของตัวเอง รองรับผู้ชมได้นับพัน ฉายภาพด้วยระบบจอใหญ่ ระบบเสียงที่พัฒนา
- สกาลา ความทรงจำโรงภาพยนตร์ในยุคสงครามเย็น
ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ว่า การรื้อสกาลา ไม่ใช่การรื้อสถาปัตยกรรมแบบใหม่ แต่เป็นการรื้อทิ้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมชิ้นสำคัญ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านธุรกิจโรงภาพยนตร์
สกาลา เป็นโรงหนังสแตนอโลนเพียงแห่งเดียวและแห่งสุดท้าย ที่มีความสมบูรณ์ สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงปลาย ผสานกับการตกแต่งภายในแบบ Movie palace ที่เน้นความหรูหรา มีศิลปะที่หลากหลายยุคสมัย สร้างความแปลกตาแฟนตาซี และเป็นโรงหนังที่อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ และโลกคอมมิวนิสต์ ที่มีโซเวียตและจีน เป็นแกนนำ
หลังปิดม่านไปเมื่อ 5 กรกฎาคม ปีที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์พยายามคัดค้านการรื้อทิ้ง และขอให้กรมศิลปากร พิจารณาให้เป็นโบราณสถาน
กรมศิลปากร พบว่า ไม่เข้ากับคำนิยามการเป็นโบราณสถาน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) ทั้งในความสำคัญทางด้านอายุและประวัติการก่อสร้าง แม้ลักษณะแห่งการก่อสร้างอาจมีประโยชน์ทางศิลปะ
อาจารย์ชาตรี แสดงความเห็นว่า นี่เป็นการตีความคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ สังคม และคนธรรมดา จึงทำให้สกาลา ถูกประเมินว่าไม่มีค่ามากพอที่จะอนุรักษ์ และไม่มากพอที่จะแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ