คัดลอก URL แล้ว
“จุรินทร์” แจงปมถุงมือยางใช้ซ้ำส่งสหรัฐฯ ที่แท้เป็นกลุ่มมิจฉาชีพ

“จุรินทร์” แจงปมถุงมือยางใช้ซ้ำส่งสหรัฐฯ ที่แท้เป็นกลุ่มมิจฉาชีพ

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการรกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้า ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่า จากสถานการณ์โควิดรุนแรง ทำให้มีความต้องการถุงมือยางจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกลุ่มมิจฉาชีพลักลอบนำเข้าและส่งออก ซึ่งเป็นเวชภัณฑ์ทางการแพทย์

ดังนั้น เรื่องนี้อาจไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องประสาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับกรณีนี้ สำนักข่าวต่างประเทศ ได้เปิดเผยข้อมูลว่า พบถุงมือแพทย์ ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ถูกส่งจากประเทศไทย มายังสหรัฐเมริกา กว่า 80 ล้านชิ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการไทยได้จับกุมผู้กระทำผิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 แต่ตามรายงานของสื่อต่างประเทศ ที่ตรวจสอบมานาน หลายเดือน ยังพบว่า มีโกดังลักษณะนี้ในประเทศไทยที่ยังคงดำเนินการอยู่ โดยทางการสหรัฐฯ และไทย กำลังดำเนินการสอบสวนร่วมกัน

ขณะที่โกดังต้นทางที่ส่งออกถุงมือยางไปเคยถูกตรวจค้นและปัจจุบันถูกปิดไปแล้ว นั่นคือ โกดังโรงงาน ในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เคยถูกกล่าวหาว่า ส่งออกถุงมือยางอนามัยใช้แล้ว ไปยังต่างประเทศจำนวนหลายล้านชิ้น หลังจากตำรวจกองปราบปราม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมายค้นเข้าตรวจค้นเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

พันตำรวจเอก เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จับกุมและตรวจค้นแหล่งผลิตถุงมือทางการแพทย์ผิดกฎหมายได้หลายราย มูลค่าหลายร้อยล้านบาท พบพฤติกรรมผู้ต้องหาใน 3 ลักษณะ รูปแบบแรกนำถุงมือที่ใช้แล้วมาซักล้าง แล้วบรรจุในกล่อง ถุงมือทางการแพทย์ แบบที่ 2 นำเข้ามาเป็นถุงมือเปลือย แบบกล่อง หรือกระสอบ แล้วนำมาบรรจุในกล่องถุงมือทางการแพทย์ รูปแบบที่ 3 ซื้อถุงมือแบบทั่วไปในประเทศไทย แต่นำมาเปลี่ยนเป็นกล่องถุงมือทางการแพทย์

ส่วนใหญ่จะจดเป็นรูปแบบบริษัทและเช่าโกดัง ซึ่งถุงมือ ที่ถูกปลอมเป็นถุงมือทางการแพทย์ จะจำหน่ายในประเทศและส่งออก จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงที่ดำเนินการจับกุม บางส่วนอาจจะเล็ดลอดไปยังสหรัฐฯ

กรณีปลอมถุงมือทางการแพทย์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ปี 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต/ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง