คัดลอก URL แล้ว
“บิ๊กป้อม” สั่งคุมระดับน้ำในอ่างให้สมดุล เร่งแก้ปัญหาน้ำเน่า จากการท่วมขัง

“บิ๊กป้อม” สั่งคุมระดับน้ำในอ่างให้สมดุล เร่งแก้ปัญหาน้ำเน่า จากการท่วมขัง

วันนี้ (16 ต.ค. 64) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะ
รองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า วานนี้ (15 ต.ค. 64) พายุดีเปรสชัน “คมปาซุ” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ประเทศไทยจะยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักบางพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก โดย กอนช. ได้ออกประกาศอย่างต่อเนื่องเพื่อแจ้งเตือนเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากเสี่ยงล้นความจุ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบรับทราบสถานการณ์สำหรับเตรียมพร้อมรับมือ นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายน้ำให้มีความสมดุลและเหมาะสม มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.

“กอนช. ร่วมกับกรมชลประทาน ได้ทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อปรับอัตราการระบายน้ำของแต่ละอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยขณะนี้ได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายของอ่างฯบางแห่ง ไม่ให้ปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักของตัวอ่างฯ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะมีการปรับเพิ่มการระบายจากอัตรา 13 ล้าน ลบ.ม./วินาที เป็น 15 ล้าน ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 17-18 ต.ค. 64 เป็นต้น โดย กอนช. ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าแก่พี่น้องประชาชนในบริเวณที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบ ให้มีการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว และจะมีการแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้มวลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลง ซึ่ง กอนช. จะประสานกำกับหน่วยงานให้ปรับลดอัตราการระบายลงตามลำดับ เพื่อดูแลให้เกิด
ผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันอ่างฯในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่ง ยังคงมีปริมาณน้ำไม่มากนัก โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ประกอบกับปริมาณฝนที่จะลดลงจากอิทธิพลของมวลความกดอากาศสูงดังกล่าว กอนช. จึงได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องให้เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง พร้อมกักเก็บน้ำท่วมในช่วงนี้ไว้สำรองเป็นน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และในส่วนของพื้นที่ที่ยังคงประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมขังยาวนานจนเกิดภาวะน้ำเน่าเสีย รองนายกรัฐมนตรียังได้มอบหมาย สทนช. ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน แก้ไขและบรรเทาปัญหาด้วยการนำจุลินทรีย์มาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในเบื้องต้น พร้อมกับเร่งรัดหน่วยงานให้คลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมขังให้ลดระดับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง