แม้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะเห็นชอบ โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ แต่จะไม่มีการเปิดเผยอัตราการจัดเก็บ จนกว่าจะมีการตราลงราชกิจจานุเบกษา ท่ามกลางรายงานข่าวว่า ยังคงโครงสร้างภาษี 2 อัตรา พร้อมขยับกรอบราคาแนะนำขายปลีก จาก 60 บาท เป็น 72 บาท ขณะที่ ผู้ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย รับสภาพภาษีบุหรี่ใหม่กระทบรายได้องค์กร แต่เป็นห่วงว่าบุหรี่เถื่อนอาจทะลักเข้าประเทศเพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เตรียมแผนตั้งบริษัทลูก พัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับ การปรับกลยุทธ์การจำหน่ายยาสูบ หลังเคยได้รับบทเรียนจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ในปี 2560 ซึ่งสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด ให้กับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศและคาดว่า บุหรี่หนีภาษีจะเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีใหม่รอบนี้ ถึงร้อยละ 20
รายงานจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่แล้ว โดยยังคงอัตราภาษีแบบขั้นบันได 2 อัตรา ตามระดับราคาบุหรี่ แต่ให้กระทรวงการคลัง แถลงข่าวในวันที่ 30 กันยายนนี้ หลังตราลงราชกิจจานุเบกษา
โดยกรมสรรพสามิต นำเสนอแนวทางปรับอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ เป็น 3 แนวทาง โดยยังคงกรอบเพดานจัดเก็บภาษีสูงสุด ที่ร้อยละ 40 และกรอบภาษีใหม่ เริ่มต้น ที่ร้อยละ 23 , 25 และ 28 จากปัจจุบัน ร้อยละ 20 หรือ ปรับกรอบราคาแนะนำบุหรี่ จากปัจจุบัน 60 บาท เป็น 72 บาท เพื่อให้ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจ เพราะ แต่ละรูปแบบ จะมีผู้ได้รับผลกระทบภาษีใหม่ทั้งสิ้น
แม้ยังไม่มีการประกาศโครงสร้างภาษีใหม่อย่างเป็นทางการ แต่ นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย ประเมินว่า การปรับราคาแนะนำบุหรี่เริ่มต้นซองละ 70 บาท จะกระทบตลาดซื้อขายหยุดชะงักในช่วงแรก แต่ผู้บริโภคบุหรี่ จะเริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภค
สมาคมฯ ยังเรียกร้องให้รัฐเร่งดำนินการ ปราบบุหรี่หนีภาษีให้จริงจัง เพราะหากปรับราคาขึ้น ก็ยิ่งทำให้ ตลาดบุหรี่หนีภาษีมีมากขึ้นตามไปด้วย