คัดลอก URL แล้ว
นักวิชาการ เชื่อ เพิ่มเพดานหนี้ “ข้อดีมากกว่าข้อเสีย”

นักวิชาการ เชื่อ เพิ่มเพดานหนี้ “ข้อดีมากกว่าข้อเสีย”

รองศาสตราจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง  มองว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี  มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย โดยข้อดี มีจำนวน 3 องค์ประกอบหลักๆ คือ

1.มีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด ทั้ง เรื่องวัคซีน ยา และส่วนอื่นๆ

2.ใช้ช่วยเหลือในเรื่องของการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชนในมาตรการต่างๆ

3.ช่วยในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการเพิ่มเพดานหนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในแง่งบประมาณที่จะมาใช้ในแก้ปัญหา

     ส่วนข้อเสียการเพิ่มความเสี่ยงจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 60 มาเป็น 70 % นั้น อาจารย์สมชายมองว่า ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งยังต่ำกว่าหลายประเทศที่ขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 100 % ของจีดีพี หรือ มากกว่านั้นอาจารย์สมชาย เชื่อว่า  ตัวเลขจีดีพีของปีนี้น่าจะขยายตัวได้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีตัวช่วยเรื่องของการส่งออกเข้ามาเติม ส่วนปีหน้าคาดว่าการท่องเที่ยวที่เริ่มสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในประเทศได้ น่าจะทำให้จีดีพีมีการขยายตัวอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์  และหากมีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะทำให้จีดีพีสามารถขยายตัวได้สูงถึง 5 เปอร์เซ็นต์

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพี เป็นหนึ่งในข้อเสนอของภาคเอกชนอยู่แล้ว เพื่อให้ภาครัฐมีช่องว่างที่จะกู้เงินได้อีก 1 ล้านล้านบาท มาชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป

       โดยในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวและการจับจ่าย ภาครัฐจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 5 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 อีก 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ          เชื่อว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะ จะไม่กระทบกับเสถียรภาพการคลัง เพราะไทยมีบทเรียนจากวิกฤตปี 2540 มาแล้ว

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะ จะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เพราะโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทย เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 98.2% ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ     ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนจัดหารายได้เพิ่มเติม และใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากกู้เงินก็ต้องใช้ในส่วนที่จำเป็น ส่วนรายได้จากภาษี อาจต้องหาฐานภาษีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มรายได้จัดเก็บ ให้เพียงพอต่อการลดขนาดการขาดดุลการคลังในระยะข้างหน้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง