ความเคลื่อนไหวของทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยที่ได้เดินทางกลับจากการแข่งขันในมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 โตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น กลับมาเข้าสู่การกักตัวที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเวลา 14 วัน ภายใต้โครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสามารถฝึกซ้อมร่างกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ภายในจังหวัดภูเก็ตได้เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ทัพพาราไทยที่เดินทางกลับมาเป็นชุดแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 จำนวน 8 คน ประกอบด้วย สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ เจ้าของเหรียญทองแดงประเภทดาบเอเป้ บุคคลหญิง คลาส บี, ทัศนีพรรณ สิวราวุฒิ ผู้ฝึกสอนวีลแชร์ฟันดาบ, เมทินี วงษ์ชมภู นักกีฬายูโด, ภาคภูมิ เทียนทอง ผู้ฝึกสอนยูโด, ณรงค์ แคสนั่น นักกีฬายกน้ำหนัก, ทองสา มารศรี นักกีฬายกน้ำหนัก, สมควร อานนท์ นักกีฬา ยกน้ำหนัก และ วุฒิชัย สุขเสวตร ผู้ฝึกสอนยกน้ำหนัก ได้ออกจากที่พัก “โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท” เพื่อร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย และหลายๆ ภาคส่วนในจังหวัดได้เตรียมไว้ให้
ในช่วงเที่ยงของวัน ทัพฮีโร่พาราไทยได้ออกไปร่วมรับประทานอาหารพื้นเมืองที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของชาวจังหวัดภูเก็ต ด้วยความอิ่มหนำสำราญและประทับใจในรสชาติอาหารใต้กันถ้วนหน้า จากนั้นทั้งหมดได้มีโอกาสไปกราบไหว้ “หลวงพ่อ
แช่ม” พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ที่วัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองชาวภูเก็ตมาช้านาน เสริมสร้างสิริมงคลให้แก่คณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทัพพาราไทยในการที่จะต้องมาใช้ชีวิตในจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน
ก่อนที่จะจบทริปของวันด้วยการไปร่วมชมพระอาทิตย์ตกดินที่แหลมพรหมเทพ อันเป็นแลนด์มาร์คที่มีชื่อเสียงระดับโลกของจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรี ตำบลราไวย์ มอบพวงมาลัยดอกไม้ให้กับเหล่าฮีโร่พาราเป็นขวัญกำลังใจที่ได้เสียสละทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งการไปผ่อนคลายที่แหลมพรหมเทพครั้งนี้เหล่าทัพพาราไทยต่างพากันถ่ายรูปเซลฟี่เก็บไว้เป็นความทรงจำอันสุดประทับใจอย่างมีความสุข ก่อนที่ฝนจะตกลงมาในช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
“แวว” สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ เจ้าของเหรียญทองแดงประเภทดาบเอเป้ บุคคลหญิง คลาส บี พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 โตเกียว 2020 เปิดเผยความรู้สึกว่า ต้องขอบคุณกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต และ กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาเป็นอย่างมากที่ดูแลต้อนรับทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยทุกคนอย่างดี สำหรับวันนี้ที่ได้ออกมาทำกิจกรรมทุกคนต่างมีความสุขกันถ้วนหน้า ส่วนตนที่ประทับใจที่สุดก็คงจะเป็นการได้มาไหว้หลวงพ่อแช่ม ที่วัดฉลองแห่งนี้ อีกทั้งที่นี่ยังอากาศดี ร่มรื่น เงียบสงบ คนภูเก็ตนับถือที่นี่เพราะเป็นสถานที่ศักสิทธิ์อยู่คู่บ้านคู่เมืองภูเก็ตมาช้านาน ตนรู้สึกดีที่ได้มีโอกาสมาที่นี่
ขณะที่เป้าหมายของ สายสุนีย์ ในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งหน้า ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี 2024 ซึ่งเจ้าตัวได้เผยก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเป็น พาราลิมปิกเกมส์ครั้งสุดท้าย คงต้องพยายามฟิตให้ได้มากกว่าเดิมเพราะจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และด้วยวัยที่จะเข้า 50 ปีพอดีด้วย อีกทั้งต้องพยายามศึกษาคู่แข่งที่ตนเองแพ้มาให้มากขึ้นเพื่อหาแนวทางที่จะชนะเขาให้ได้ โดยเคล็ดลับของตนเองที่ทำให้เล่นมาได้ถึงขนาดนี้ก็คือการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นั่นคือสิ่งที่ยังทำให้ตนแข็งแกร่งและมีพลังมาจนถึงขนาดนี้
ส่วนแผนการใช้ชีวิตหลังจากเลิกเล่นนั้น วีลแชร์ฟันดาบหญิงคนเก่งของประเทศไทยเผยว่า หลังจากเลิกเล่นในปี 2024 ก็อยากจะมีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตนเอง ที่คิดไว้คืออยากทำร้านอาหารอีสานที่ตนเองชอบ และอีกอย่างก็คือหลังเลิกเล่นแล้วตนก็อยากจะพักผ่อน ซึ่งตนก็มีสวนเล็กๆ อยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ ก็คิดว่าบั้นปลายจะปลูกสวนผลไม้และสร้างบ้านเล็กๆ ไว้อยู่ไว้พักผ่อนพร้อมพักผ่อนไปในตัว
ทั้งนี้ ทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยชุดสู้ศึกพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 โตเกียว 2020 ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นชุดใหญ่ที่สุดที่เพิ่งเดินทางกลับมาถึงจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา กำลังทำการกักตัวอยู่ภายในที่พัก “โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท” ขณะที่ทัพนักกีฬาชุดที่ 3 ชุดสุดท้ายที่จะเดินทางมาร่วมโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จะมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตในวันที่ 8 ก.ย.64 ซึ่งจะนำมาโดยนักกีฬาจาก 4 ชนิดกีฬาสุดท้าย ประกอบด้วย บอคเซีย, แบดมินตัน, วีลแชร์เทนนิส และ ยิงปืน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทีมกีฬาและเจ้าหน้าที่คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่ง
ประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 55 คนด้วยกัน