เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเผยแพร่คำกล่าวของนางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน โรงพยาบาลเมดพาร์ค ถนนพระราม 4 เนื่องในโอกาสการเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค.2564 โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่เรามีต่อชาวไทยระหว่างวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้
สหรัฐฯยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศไทยมากว่า 200 ปี เรามีความร่วมมือที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน ไปจนถึงพันธมิตรทางการทหารที่แน่นแฟ้น และความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความสัมพันธ์ของเรามีรากฐานอยู่บนค่านิยมที่ชาติของเราทั้งสองมีร่วมกันเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยเหตุนี้ ตนจึงภูมิใจที่ได้มาที่โรงพยาบาลเมดพาร์คในวันนี้ ตนรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้เห็นการดำเนินการของไทยในการฉีดวัคซีนและปกป้องประชาชนด้วยวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯได้มอบให้เมื่อเร็วๆนี้
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า เมื่อเช้าวันนี้ ตนได้พบกับบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าซึ่งเป็นวีรบุรุษและวีรสตรีของไทย ในขณะที่พวกเขาได้รับวัคซีนเข็มแรก และตนรู้สึกเกิดแรงบันดาลใจที่ได้ฟังเรื่องราวของพวกเขาในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาชีวิต อีกทั้ง ตนยังได้รับฟังสรุปเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยปลอดภัย นับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดใหญ่ สหรัฐฯได้มอบเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์สำคัญอื่นๆให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อช่วยต่อสู้กับโรคโควิด-19 นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ชาวอเมริกันยังทำงานเคียงข้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยในการต่อสู้กับไวรัสที่เลวร้ายนี้ด้วย
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า ในการยุติโรคโควิด-19 เราทราบดีว่า เราต้องทำงานร่วมกัน เชื้อโควิดนั้นไร้พรมแดน ไวรัสนี้ไม่สนใจว่าเรามาจากประเทศไทย สหรัฐฯ เมียนมา หรือลาว และไม่มีชาติหนึ่งชาติใดจะสามารถหยุดโรคระบาดใหญ่ได้โดยลำพัง การกำจัดเชื้อไวรัสนี้จะต้องใช้ความสามารถ ความเป็นผู้นำที่มีหลักการ และความร่วมมือของทุกชาติบนโลก ประธานาธิบดีไบเดนได้ให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะมอบวัคซีนให้กับทั่วโลก ท่านประธานาธิบดีเข้าใจดีว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ดังนั้น เราจึงกำลังบริจาควัคซีนกว่า 500 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และปราศจากเงื่อนไขใดๆ สำหรับประเทศไทย เราได้จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสแล้ว ซึ่งตนเพิ่งจะได้เห็นการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เรายังภูมิใจที่จะจัดส่งวัคซีนอีก 1 ล้านโดสเร็วๆนี้ด้วย
“เรายังทราบอีกว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการรับมือกับความต้องการด้านมนุษยธรรมอันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ในเมียนมา ดังนั้น ในวันนี้ ดิฉันภูมิใจที่จะประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมอบความช่วยเหลือมูลค่า 55 ล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็นความช่วยเหลือเพื่อการดำเนินการตอบสนองด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ เราจะให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการรับมือต่อการระบาด ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวของระบบสาธารณสุขของไทย โดยเราจะมอบความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับไทย ซึ่งจะให้การสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19 ด้วย” เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าว
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จำนวน 50 ล้านเหรียญ แก่ภาคีองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐโดยตรง เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกรณีฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ที่พักพิง การให้บริการสาธารณสุขหลัก น้ำ การส่งเสริมสุขภาพ และบริการด้านสุขอนามัยต่างๆแก่ประชากรกลุ่มเปราะบางจากเมียนมา ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ กว่า 700,000 คน ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยให้ไทย องค์กรนอกภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศสามารถตอบโต้วิกฤตการณ์โควิด-19 และตอบสนองต่อความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนฝั่งไทย
“ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ยากลำบากทั้งที่ประเทศไทยและในทั่วโลก และดิฉันอยากจะให้คนไทยทราบว่าสหรัฐฯจะยืนเคียงข้างพวกท่านต่อไป นอกจากนี้ ดิฉันยังอยากจะขอบคุณบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ ได้แก่ พยาบาล หมอ บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัคร และทุกคนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหยุดไวรัสนี้และช่วยชีวิตคนมากมาย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเยือนประเทศไทยของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค.2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับความเป็นหุ้นส่วนด้านต่างๆที่สำคัญ ระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีกำหนดการเข้าพบบุคคลในรัฐบาลไทย เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสนใจ ซึ่งรวมถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ บริจาคให้รัฐบาล จำนวน 1,503,450 โดส สถานการณ์ในประเทศเมียนมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังมีกำหนดการที่จะพบกับผู้แทนองค์การระหว่างประเทศและเอ็นจีโอในไทยด้วย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล