ศปก.ศบค.เตรียมเสนอ “แฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์” ตรวจรักษา-ควบคุม ดูแลแรงงาน 4 กลุ่มส่งออก เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นำรอง 4 จังหวัด “นนทบุรี- ปทุมธานี-สมุทรสาคร-ชลบุรี”
รายงานข่าวในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศปก.ศบค.) ในวันนี้ 6 สิงหาคม มีการนำเสนอรูปแบบแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์(Factory sandbox) หรือตรวจ/รักษา /ควบคุม/ดูแล ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่มุ่งเป้าดำเนินการ ควบคู่กันระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยในแซนด์บ็อกซ์ จะมุ่งเป้าไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นกลไกลหลักที่พยุงประเทศในปัจจุบันนี้ โดยมี 4 กลุ่ม ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ โดยยึดหลักสำคัญ คือ ตรวจรักษา ดูแล และควบคุม เพื่อให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ตรงตามเป้าหมาย ซึ่งในระยะที่หนึ่ง จะดำเนินการในพื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาครและชลบุรี ระยะที่สอง คือ อยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ
ทั้งนี้ มีหลักหัวใจสำคัญคือ การตรวจจะต้องดำเนินการคัดกรองด้วย การSwab ในรูปแบบ RT-PCR 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจ Antigen Test Kit ทุกสัปดาห์ ส่วนการรักษาจัดให้มีจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation: FAI) hospital และไอซียู สำหรับผู้ป่วยเขียว เหลือง และแดง
ทั้งนี้ การดูแล ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนตั้งครรภ์ และออกใบรับรองให้กับบริษัท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ส่วนการควบคุม ดำเนินการตามมาตราการบั้บเบิล แอนด์ซิล และDMHTT โดยประเภทประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีดังนี้ สถานประกอบกิจการที่ผลิตเพื่อการส่งออก อยู่ในนนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาครและอยุธยา ฉะเชิงเทรา มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ต้องดำเนินการFAI ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และดำเนินบับเบิลแอนด์ซีลโดยกำหนดให้ลูกจ้างเดินทางกลับที่พักโดยตรง ไม่แวะระหว่างทางและอยู่ในเคหะสถานเท่านั้น ตรวจหาเชื้อแบบด้วย Swab ด้วยรูปแบบ RT-PCR จำนวน 1 ครั้งให้ลูกจ้างทั้งหมด และตรวจแบบตรวจ Antigen Test Kit ทุก 7 วัน และฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างที่ตรวจทุกคน ยกเว้นคนที่ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษา ส่วนค่าบริการฉีดวัคซีนให้สถานประกอบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ขณะเดียวกันสถานประกอบการทำหนังสือยินยอมตามแนวทางของกระทรวงแรงงานและจังหวัด
อย่างไรก็ตาม แผนเตรียมโครงการแรงงานแซนด์บ็อกซ์ กระทรวงแรงงานจะเสนอที่ประชุม ศบค.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป หลังจากนั้นจะมีการจัดประชุมชี้แจงแนวปฏิบัติแรงงานแซนด์บ็อกซ์ ใน 4 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาครและชลบุรี และจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลในเรื่องการตรวจรักษาและฉีดวัคซีน ก่อนเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อพิจารณาเห็นชอบโครงการดังกล่าวต่อไป รวมถึงจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมศปก.ศบค.รับทราบสถานประกอบการขั้นต้นที่สนใจเข้าร่วมโครงการ คือ นนทบุรี 3 แห่ง ปทุมธานี 5 แห่ง สมุทรสาคร 7 แห่ง ชลบุรี 5 แห่ง รวม 20 แห่งเบื้องต้น
#โควิด #ชุดตรวจโควิด #ตรวจโควิด #แฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ #ข่าวโมโน29 #Mono29News #Mono29