คัดลอก URL แล้ว
ด่วน!! ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้หวาดกลัว ตามที่นายกฯประกาศ

ด่วน!! ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้หวาดกลัว ตามที่นายกฯประกาศ

ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม “นายก” ใช้ ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช.ฟันเฟคนิวส์-ตัดเน็ต สื่อ ศาลชี้ริดรอนเสรีภาพสื่อ-ประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร โดยเฉพาะช่วงนี้ต้องล็อคดาวน์ คำว่า “ข้อความอันเป็นเท็จ” ขอบเขตกว้างไม่ชัดเจน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 ส.ค.64 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ พ. 3618/2564 ที่ภาคีนักกฎหมาย และตัวแทนสื่อมวลชนออนไลน์ 12 รายยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ .ศบค.ให้ถอนคำสั่งการออก ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯข้อกำหนดที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ตัด-เน็ตดำเนินคดีสื่อออนไลน์ กรณีเฟคนิวส์ หลังจากทำการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ศาลได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้ว มีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวมิได้ จำกัด เฉพาะข้อความอันเป็นเท็จ ดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เป็นไปอย่างมีเหตุผลถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดข้อดังกล่าวนั้นมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34วรรคหนึ่ง และมาตรา 35วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการ จำกัด สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสอง หรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุตามความในมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558

ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์ จำกัด การเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคล ทั้งข้อกำหนดข้อดังกล่าวมิได้ จำกัด เฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญฯ การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้

กรณีมีเหตุจำเป็น เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาตรา 255(2) (ง) ประกอบมาตรา267วรรคหนึ่งและการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆอีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย

จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558(ฉบับที่29) เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ภายหลังฟังคำสั่ง น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ The Reportersกล่าวว่า ขอขอบคุณศาลที่ได้รับฟังเสียงประชาชน คำสั่งศาลวันนี้เป็นการคุ้มครองชั่วคราวในการใช้ข้อบังคับนี้ เหตุผลสำคัญคือศาลให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยข้อกำหนดตามที่เราได้ยื่นไปคือ การโพสต์ข้อความทำให้เกิดความหวาดกลัว เป็นข้อความที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่มีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจน ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงปัจจุบันประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีการล็อคดาวน์ ศาลเห็นว่าประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตทั้งในเรื่องการสื่อสาร การพาณิชย์ และการรักษาพยาบาล ดังนั้นหากมีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตในลักษณะที่ไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจนายกฯ ดำเนินการในเรื่องนี้ชัดเจน เราจึงต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ เพื่อข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้

“วันนี้ศาลให้ความคุ้มครอง เราในฐานะสื่อก็ต้องใช้สิทธิเสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ คงไม่ทำอะไรที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างที่ทุกคนกังวลแน่นอน เราจะใช้สิทธิเสรีภาพของเราอย่างรับผิดชอบ และเราคงไม่ทำเฟคนิวส์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ในฐานะตัวแทนสื่อขอให้ทุกคนแม้กระทั่งประชาชน ใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ” น.ส.ฐปณีย์ กล่าว

โควิด #นายกรัฐมนตรี #ประยุทธ์จันทร์โอชา #เฟคนิวส์ #ข่าวโมโน29 #Mono29News #Mono29