คัดลอก URL แล้ว
เปิดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จะจัดสรรให้ 5 กลุ่มเป้าหมาย

เปิดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จะจัดสรรให้ 5 กลุ่มเป้าหมาย

เปิดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จะจัดสรรให้ 5 กลุ่มเป้าหมาย เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมวัคซีนไฟเซอร์ส่วนหนึ่งถูกส่งไป จ.บุรีรัมย์ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหนัก

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวสารถึงประเด็นเรื่อง วัคซีนไฟเซอร์ส่วนหนึ่งถูกส่งไป จ.บุรีรัมย์ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหนัก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
ในกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเรื่องวัคซีน โดยระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์ส่วนหนึ่งถูกส่งไป จ.บุรีรัมย์ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหนัก ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ความจริง เนื่องจากขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ยังอยู่ในขั้นตอนของบริษัทจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะเริ่มส่งได้ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ อีกทั้งก็อยู่ในระหว่างการจัดสรรให้ 5 กลุ่มเป้าหมายตามมติที่ประชุม ซึ่งในนั้นไม่มีจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ดังนี้

-700,000 โดส เพื่อใช้กระตุ้นเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์
-645,000 โดส เพื่อกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรคและสตรีมีครรภ์) 608 ชาวไทยใน 13 จังหวัด
-150,000 โดส เพื่อกลุ่มเสี่ยง 607 ชาวต่างชาติ และผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนไปต่างประเทศ เช่นนักเรียน นักศึกษา
-5,000 โดส เพื่อศึกษาวิจัยและตอบโต้การระบาด

ทั้งนี้การจัดการจะปรับตามสถานการณ์การระบาด

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมเกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง