วานนี้(26 ก.ค. 64) แพทย์สัญญาจ้าง หรือ ฟรีแลนซ์ หลายร้อยคนในมาเลเซีย ได้ออกมาประท้วงรัฐบาล เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและ มีความเท่าเทียม กับแพทย์ในสังกัดของรัฐซึ่งทั่วประเทศมีอยู่ราว 20,000 คน หลังจากต้องปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ร่วมกับแพทย์ประจำ ทั้งยังเป็นเรี่ยวแรงหลัก ในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับภาวะตึงเครียดด้านสาธารณสุข อย่างหนัก
รายงานระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2559 แพทย์จบใหม่ในมาเลเซีย ที่ผ่านการฝึกปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้วนั้น จะได้รับการว่าจ้างจากโรงพยาบาล ในรูปแบบสัญญาชั่วคราวเท่านั้น และ ไม่มีการอนุมัติให้ได้รับตำแหน่งประจำอีกต่อไป ทำให้กลุ่มแพทย์จบใหม่ มีเส้นทางในอาชีพที่ไม่แน่นอน และ ยังได้รับสวัสดิการไม่เท่ากับที่แพทย์ประจำได้
ด้านกระทรวงสาธารณสุขมมาเลเซีย ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีแพทย์ที่เป็นฟรีแลนซ์ในสังกัดโรงพยาบาลรัฐ ราว 35,000 คน แบ่งออกเป็น แพทย์ 23,000 คน เภสัชกร 7,000 คน และ ทันตแพทย์ 5,000 คน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซีย ได้ออกมาระบุว่า เตรียมยื่นเรื่อง ให้มีการแก้ไขกฎหมาย ในการต่อสัญญาแพทย์ฟรีแลนซ์ เป็นนานสูงสุด 4 ปี แต่กลุ่มแพทย์จบใหม่เห็นว่า ยังไม่เพียงพอ
การออกมาประท้วงในครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังคงรุนแรง โดยวานนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 14,000 ราย และ ผู้เสียชีวิตรายใหม่อยู่ที่ 207 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด และ ทำให้ยอดรวมการเสียชีวิตจากโควิดในมาเลเซียพุ่งไปอยู่ที่กว่า 8,200 คน แล้ว