เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพถึงการค้นพบ “ดาวหาวดวงใหม่” จากชายขอบของระบบสุริยะ โดยระบุว่า
ยินดีต้อนรับ C/2014 UN271 #ดาวหาง จากขอบระบบสุริยะ!
ดาวหาง C/2014 UN271 ค้นพบโดย 2 นักดาราศาสตร์ Pedro Bernardinelli และ Gary Bernstein เมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นดาวหางคาบยาว เดินทางมาจากส่วนลึกของเมฆออร์ต พื้นที่ชายขอบของระบบสุริยะที่เต็มไปด้วยวัตถุที่ก่อตัวขึ้นพร้อมกับระบบสุริยะ แต่ไม่สามารถวิวัฒนาการเป็นดาวเคราะห์ได้
C/2014 UN271 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 160 กิโลเมตร ถือว่าเป็นดาวหางจากเมฆออร์ตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ ในอดีตมีดาวหางขนาดใหญ่ที่มาจากเมฆออร์ต ได้แก่ ดาวหาง C/1995 O1 หรือ Hale-Bopp มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 กิโลเมตร และดาวหาง C/1729 P1 มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 100 กิโลเมตร
ขณะนี้ C/2014 UN271 กำลังโคจรโดยมีทิศทางพุ่งเข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน โดยจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในปี พ.ศ. 2574 ที่ระยะห่างประมาณ 1,600 ล้านกิโลเมตรจากโลก หรือประมาณวงโคจรของดาวเสาร์ คาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏช่วงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดประมาณ 20 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก
สามารถดูข้อมูลวงโคจรของดาวหางเพิ่มเติมได้ที่
https://ssd.jpl.nasa.gov/sbdb.cgi…
Pedro Bernardinelli และ Gary Bernstein ค้นพบดาวหาง C/2014 UN271 จากโครงการ Dark Energy Survey (DES) โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ศึกษาวิจัยการขยายตัวของเอกภพ ซึ่งการค้นพบดาวหางหรือวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะนั้นเป็นผลพลอยได้ หลังจากค้นพบวัตถุเหล่านี้แล้วจะรายงานไปยัง Minor Planet Center จากนั้นหอดูดาวที่กระจายอยู่ทั่วโลกจะร่วมกันติดตามและสังเกตการณ์เพื่อช่วยกันยืนยันการค้นพบต่อไป
ซึ่งเรี่องนี้ถูกจัดทำข้อมูลโดย นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
Cr.NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ