ในงานภาคอุตสาหกรรมทุกชนิด ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ต่อยอด เพื่อให้ได้ผลิตผลและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น นั่นคือวัฏจักรของอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนผ่านเหล่านั้นได้เกือบทุกครั้งก็คือ ‘การใช้เทคโนโลยี’
เทคโนโลยีเพื่อทุ่นแรง เทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา เทคโนโลยีเพื่อนำพาไปสู่สิ่งใหม่ๆ ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีในสายงาน ‘Synthetic Biology’ หรือ ‘ชีววิทยาสังเคราะห์’ ก็เป็นอีกคลื่นลูกใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาในแวดวงอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ และ ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน แห่งภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อ ‘Biom’ บริษัท Startup ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ได้
เล็งเห็นความสำคัญของการมาถึงของอนาคตที่โลกแห่งชีววิทยาสังเคราะห์ จะไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป
Biom: ชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่ออุตสาหกรรมไทย
ความสำคัญทางด้านการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ในงานภาคอุตสาหกรรมหลักนั้น เริ่มทวีปริมาณมากขึ้นในระยะเวลาที่ผันผ่านไป และ Biom บริษัทลูกที่ก่อตั้งโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นทั้งสถานที่ทำการวิจัย และดำเนินการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นในตลาดใช้งานจริง
‘Biom เป็นบริษัทลูกจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวธุรกิจหลักก็จะเป็นการวิจัย ด้าน Bio-Technology โดยเฉพาะด้านชีววิทยาสังเคราะห์หรือ Synthetic Biology โดยมีโมเดลธุรกิจสองแบบ แบบแรก คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง และดูว่าสามารถประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับตลาดได้ และส่วนที่สอง คือการนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยการร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแก้ปัญหาด้าน Biotech ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ’ ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน ผู้ก่อตั้งบริษัท Biom กล่าวอธิบาย
โดยในปัจจุบัน บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริงออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง และอยู่ในภาคอุตสาหกรรมด้าน Sustainable Farm to Safe Food เช่น
- จุลินทรีย์ย่อยสลายยาฆ่าแมลงในผลผลิต
- น้ำยาล้างผักเอนไซม์ย่อยสลายยาฆ่าแมลง
- ตัวเซนเซอร์โมบายล์ตรวจสอบสารพิษในผลิตภัณฑ์การเกษตร
ที่ได้รับความร่วมกับกลุ่มบริษัท BBGI PCL ที่เป็นทั้งคู่ค้า ผู้ใช้งานในฟาร์ม และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Biom มาจนถึงปัจจุบัน
ใช้ช่วงเวลาวิกฤติ เพื่อคิดรูปแบบธุรกิจ และกระชับแนวทาง
แต่ก็เช่นเดียวกับบริษัทที่เปิดตัวมาในปี 2019 ช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 การก่อตั้งเริ่มแรกของ Biom นั้นจึงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบง่ายนัก แต่ ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน ก็ได้กล่าวว่า เป็นช่วงที่บริษัท ได้ใช้อย่างคุ้มค่าในการทำความชัดเจนของแนวทางที่จะก้าวและขยายตัวต่อไป
‘ต้องบอกว่า เราก่อตั้งในช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะลำบากพอสมควร ธุรกิจหลายแห่งหยุดชะงัก แต่กลับเป็นช่วงที่เราใช้เวลาเต็มที่ในการนั่งคิดแนวทางธุรกิจ และเป็นช่วงที่ BBGI PCL ซึ่งเป็นผู้ลงทุนได้เข้ามาพูดคุย ซึ่งถือว่าเร็วมากแค่ภายในหกเดือน จนทำให้ปี 2020 เป็นเวลาที่พูดคุยเรื่องการระดมทุน เรื่องการปรับแผนธุรกิจ เรื่องการปรับรูปแบบองค์กร พอปี 2021 ก็ประกาศเรื่องการร่วมทุน เปิดตัวในตอนนั้น’
ความชัดเจนในแนวทางธุรกิจ บวกกับผู้ซื้อที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและความต้องการใช้งาน ช่วยให้ Biom สามารถก้าวต่อเนื่องไปได้ในปีถัดๆ ไปอย่างมั่นใจ แม้จะเป็นหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปแล้ว
NIA กับความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกขาดของ Biom
แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การเข้ามาของ NIA นั้น มีส่วนช่วยให้ Biom สามารถก้าวกระโดดในจังหวะที่สองได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ จากการสนับสนุนด้านเงินทุนและการวิจัยที่มี
‘NIA มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขยายตัวของ Biom โดยเฉพาะทุนในการผลิตชุด Bio-Sensor ในปี 2022 เป็นงบวิจัยในการมาสนับสนุน ส่วนที่สอง คือการสร้าง Synbio Consortium ร่วมกับบริษัทต่างๆ กับ NIA ทำให้เราเป็นที่รู้จักของหน่วยงานอื่นๆ’ ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน กล่าวเสริม แต่แน่นอนว่า การสนับสนุนนั้น ยังมีจุดที่ทาง ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน มองว่า สามารถขยายเพิ่มขึ้นไปได้อีกขั้น
‘ความช่วยเหลือนั้นมีให้เห็น แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ ‘ระดับ’ ของความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละบริษัท มีระดับการเติบโตที่หลากหลาย ความช่วยเหลือเบื้องต้นเกิดขึ้น แต่ความช่วยเหลือในระดับถัดไป ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมี’
ความคาดหวัง และก้าวต่อไปของ Biom
ในปัจจุบัน นอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์ทางด้าน Synthetic Biology ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในภาคการเกษตรแล้ว ทาง Biom ยังเป็น Partner ร่วมวิจัยผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ยังไม่ถูกนำออกสู่ตลาดอีกจำนวนหนึ่ง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่วางไว้ข้างหน้า
‘สำหรับตัวจุลินทรีย์ เรากำลังพยายามออกไปทางประเทศทางเกษตรอย่าง ประเทศลาว, พม่า, เวียดนาม ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็มีการพูดคุยกับลูกค้าต่างชาติและสถานที่ผลิตที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงงานวิจัยที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมอยู่ตลอด ถ้าเป็นความคาดหวังอย่างแรกสุด คือการมีผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานอย่างหลากหลายในต่างประเทศ อย่างที่สอง คือการเป็นต้นแบบให้กับบริษัทอื่นๆ เป็นมาตรฐาน และอย่างสุดท้าย คือการมีกำลังผลิตที่สูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว’
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน ยังได้ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่จะก้าวเข้ามาในธุรกิจ Startup ในเวลาถัดไปได้อย่างน่าสนใจ
‘สอนนักศึกษาทุกคนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าสู่ธุรกิจ Startup อยู่ตลอด นอกเหนือจากการใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีความอดทน โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นธุรกิจ จะมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไขและฟันฝ่าไปค่ะ’ ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.biom.co.th/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace
ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)