คัดลอก URL แล้ว

Shipnity… ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปนิตี้ จำกัด

ชิปนิตี้หรือแพลตฟอร์มระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ คือตัวช่วยผู้ประกอบการยุคดิจิทัลให้สามารถบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก  ขึ้น โดยมี ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันระบบจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจัดการสต็อก สินค้า การจัดการออเดอร์ และระบบรายงานสถิติและการเงินได้อย่างตรงจุดและตรงใจ
เกิดเป็นประโยชน์มหาศาลต่อผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ให้มีระบบวางแผนการขายอย่างคล่องตัว
นับระยะเวลาวันแรกจากวันนี้รวมแล้วหกปีที่ชิปนิตี้เติบโตเคียงข้างร้านค้าออนไลน์ในประเทศ และอีกไม่นานอาจได้เห็นชิปนิตี้ขยายสู่ตลาดการค้าเพื่อนบ้าน

“เรามี Co-Founder สองคน จุดเริ่มต้นมาจาก Pain Point ในการขายของออนไลน์ที่พอเริ่มขายดีก็เริ่มจัดการออเดอร์ได้ยาก ย้อนไปเมื่อห้าหกปีที่แล้ว ยังไม่มีโปรแกรมไหนที่ตอบโจทย์ พาร์ทเนอร์ของเราจึงเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้เอง พอใช้แล้วรู้สึกว่าดี ช่วยตอบโจทย์การทำงานหน้าร้าน คิดว่าน่าจะมีคนที่ต้องการเครื่องมือแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ก็คิดว่าลองให้คนอื่นใช้ด้วยดีไหม เลยจดโดเมนเว็บไซต์ เปิดเพจเฟซบุ๊ก ยิงโฆษณาดู หลังจากนั้นก็มีลูกค้าสมัครใช้งานเลย แล้วก็ได้ฟีดแบ็คกลับมาว่า ระบบดีมาก เขามองหาโปรแกรมแบบนี้อยู่ พอระบบของเราสามารถตอบโจทย์ร้านออนไลน์ได้จริงๆ จึงลงมือพัฒนาระบบอย่างจริงจังมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้”

ความยั่งยืนของธุรกิจลูกค้าคือ Passion ของเรา

การลงมือทำโดยมุ่งมั่นต่อความสำเร็จของตนเองเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่การคิดถึงความสำเร็จของผู้อื่นด้วยนั้นน่านับถือ โลกของเราต้องการความช่วยเหลืออีกมาก โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจที่ใครๆ ก็มองว่าเป็นโลกแห่งการแข่งขัน แต่ทุกวันนี้ การทำธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจะยิ่งทำให้ธุรกิจของเราเติบโตก็เป็นได้

“Passion ของเราในการก่อตั้งชิปนิตี้ คือ เราต้องการเป็นผู้ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ อยากให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียหรือลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งลดความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์เราเองก็ตาม ใช้จุดอ่อนของเรามาเป็นตัวตั้งต้น เพราะเราเคยมีประสบการณ์เดียวกับลูกค้าตอนที่เริ่มขายของออนไลน์ เมื่อลูกค้าสั่งของเข้ามายี่สิบออเดอร์เราเริ่มงง มีการส่งสลับของ ส่งผิด ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจ กว่าจะได้ลูกค้าก็ยากแล้วแต่การรักษาลูกค้าเก่ายิ่งยากกว่า”

ใจต้องมา ความสามารถต้องมี

ชิปนิตี้เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนธุรกิจอี-คอมเมิชที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีความแข็งแกร่งของระบบหลังบ้านที่ลูกค้ายกนิ้วให้ เบื้องหลังคือคนรุ่นใหม่อายุน้อย พวกเขาใช้พลังจากไหน และมีแนวคิดอย่างไรที่ทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคในทุกช่วงเวลาของการสร้างบริษัทมาได้โดยที่ไม่ล้มเลิกไปเสียก่อน

“ความสำคัญของการทำธุรกิจคือ การที่เราเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า ฟังลูกค้าเยอะๆ แล้วก็ไม่หยุดพัฒนา คือปัจจัยหลักที่สำคัญมากๆ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ Model Vision กับ Passion ของตัวผู้ก่อตั้งเอง และทีมงานที่ไม่หยุดก้าวไปด้วยกัน เพราะการทำธุรกิจนั้นย่อมมีอุปสรรคตลอดเวลา มีความเหนื่อย ความท้อ แต่สิ่งที่เราทำคือ Passion ความตั้งใจกับความต้องการที่เราจะให้บริการลูกค้า เราต้องการให้ธุรกิจสำเร็จขึ้นมาให้ได้ และสิ่งที่สำคัญมากคือเราจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ในวันที่เราเหนื่อย เราไปทำอย่างอื่นก็ได้ เราเลิกทำดีมั้ย คู่แข่งเยอะเหลือเกิน เราเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ตอนแรกที่ยังเรียนไม่จบ ต้องศึกษาเยอะมากทำยังไงให้เราสามารถพัฒนาให้เทียบเท่าหรือนำคนอื่นไปได้ ต้องใช้พลังใจเยอะมากๆ

หรืออย่างโควิด อยู่ดีๆ ก็ระบาดหนัก โลกนี้ไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้มาก่อน ค่อนข้างจัดการได้ยากถ้ามองทางเศรษฐศาสตร์ เราสามารถมองได้สองแง่มุม คือ ปกติในตอนนี้คนเราชีวิตจะมีทั้งออฟไลน์กับออนไลน์ แต่การที่พลิกผันเทไปอยู่โลกออนไลน์มากกว่าทันทีทำให้เกิด Demand Shock อยู่ดีๆ ทางฝั่งออนไลน์ก็มียอดการขายที่เพิ่มแบบระเบิดขึ้นมาเลย เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย ทำให้กำลังการผลิตไม่พอ การตั้งโรงงานใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในสองวัน อย่างเราเองลูกค้าเข้ามาเยอะมากแต่เกิดขึ้นทันทีทันใด เราไม่ได้ขยายทีมเราได้ในระดับที่จะไปรองรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทีมงานเราก็ต้อง Work From Home  จัดการยาก และทำให้ทีมเหนื่อยมากๆ ใจที่พร้อมจะสู้ก็สำคัญแล้วก็เป็นเรื่องความสามารถของทีมที่ทำได้ เหนื่อยกันสุดๆ แต่ก็ผ่านกันมาได้”

พัฒนาตัวเองตลอดเวลา

แม้จะเติบโตมาในระดับหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ถ้า ณ วันนี้แพลตฟอร์มชิปนิตี้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากเท่าไหร่ พรุ่งนี้จะยิ่งตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานโดย “ตอบสนอง” ความต้องการ แต่เป็นการ ”เสนอ” สิ่งที่ลูกค้าอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการ

“แผนตอนนี้จะแบ่งได้เป็นสองเรื่อง หนึ่งการจัดการสินค้า ซึ่งเรามีการพัฒนาต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้เราก็มองหาทั้ง New business หรือ New S Curve ที่เป็นการต่อยอด ไปอีกอย่างการพัฒนาฟีเจอร์บางอย่างที่นำหน้าคู่แข่งซึ่งเราจะค่อนข้างไวมาก อย่างตอนที่ TikTokShop เข้ามาในไทย​ เราเชื่อมต่อเป็นเจ้าแรกในไทยเลย วันนี้เราเป็นพาร์ทเนอร์ชกับบริษัทระดับโลกที่เป็นเบต้า ก็จะทำ Facebook, Instagram โดยมีพาร์ทเนอร์ทั้งในส่วน Tech Partner และ Marketing Partner เรื่องที่สอง คือการพัฒนาทั้งเรื่องของทีมงานระบบภายใน ซึ่งเรามีการสเกลมาในระดับหนึ่งแต่ต้องสเกลต่อ การวางระบบภายใน การเทรนนิ่งพนักงาน และระบบการดูแลลูกค้าซึ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะยังไงก็มองว่า เราต้องพัฒนาตัวเองในทุกด้านตลอดเวลา”

ใช้ความเป็นเด็กให้เป็นประโยชน์

ความรู้อาจเรียนทันกันหมด เป็นความจริง และยิ่งในโลกที่หมุนแรงและเร็วอย่างปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งจริงมากขึ้นไปอีกหากจะกล่าวว่า อย่าประเมินความสามารถของใครด้วยอายุอีกต่อไป   

สำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ เราจะฝากไว้ทุกครั้งที่มีโอกาสให้สัมภาษณ์ว่าขอให้ลองทำไปเลยตอนเด็กๆ นี่แหละดี คนที่โตแล้วมาทำโน่นทำนี่ ได้เสียจะมีส่วนได้ส่วนเสียสูง ความเป็นเด็กแม้จะไม่มีประสบการณ์อะไร แต่เราสู้สุดใจเลย แรงก็เยอะด้วย และด้วยความเป็นเด็ก ทำให้เราสามารถขอคำปรึกษาจากพี่ๆ ได้ พี่ก็จะอารมณ์แบบว่าช่วยน้องหน่อย ก็อยากให้ทุกคนลองกล้าๆ ดู แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้มาจากการสังเกตทั้งตัวเราและคนอื่นๆ คือ เราต้องรู้ว่าเราไม่รู้อะไร  สำคัญมาก บางทีเรามั่นใจมาก รู้หมดแล้ว จุดนั้นอันตรายมาก แต่ถ้ามีวันหนึ่งเรารู้สึกว่า เราไม่รู้อะไรเลย มีอีกตั้งอย่างเลยก็อาจจะทำให้เริ่มท้อเหมือนกัน ก็ให้บอกตัวเองว่า อย่างน้อยเราก็รู้เพิ่มขึ้นวันละเรื่องก็ได้ ในทุกๆวัน และอย่าลืมตอบตัวเองให้ได้ว่าจริงๆแล้ว​ เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร Passion เราคืออะไร เราช่วยใครได้บ้าง”

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.shipnity.com/https://web.facebook.com/shipnity

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Start Up Thailand Marketplace
ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง