วันที่ 2 เมษายน 2568 — สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายองค์กร จัดกิจกรรมรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “บุหรี่ไฟฟ้ามันร้าย” พร้อมเปิดเผยข้อมูลจากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนทั่วประเทศ พบว่าวัยรุ่นไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 38.3 โดยกว่าครึ่งรู้แหล่งซื้อภายในชุมชน
นายธนภัทร แสงหิรัญ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคอีสาน เปิดเผยว่า ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,435 คน ใน 12 ชุมชนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 พบว่า 86.3% ของเยาวชนรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ 38.3% เคยมีพฤติกรรมสูบ และกว่า 53% รายงานว่าคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน ญาติ หรือแม้แต่ครู มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดย 51.7% ระบุว่าสามารถหาซื้อได้ภายในชุมชน และ 91.3% ชี้ว่าเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย
นายธนภัทร ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เยาวชนเข้าสู่พฤติกรรมสูบ มาจากสภาพแวดล้อมและคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัว โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการใช้กลไกเสริมความรู้ และปลูกฝังความเข้าใจถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา นายทรงพล จิรอัศวแก้ว อาชีพไรเดอร์ เล่าประสบการณ์ตรงว่าเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะคิดว่าราคาถูกและไม่เป็นอันตราย แต่สุดท้ายต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด อาการลามไปถึงกระเพาะและอัณฑะ แพทย์ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนทำให้ระบบภายในร่างกายอ่อนแอลง
“ผมเคยมั่นใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย เอาไปสูบใกล้ๆ คนในบ้านช่วงสงกรานต์ แต่พอป่วยหนัก ผมถึงรู้ว่ามันส่งผลร้ายกับคนรอบตัวจริงๆ อยากให้คนที่ยังสูบอยู่ลองคิดดูว่า เรากลับบ้านไปเจอคนที่เรารัก แต่กลับเอาสิ่งที่เป็นพิษไปฝากเขา” นายทรงพลกล่าว พร้อมเชิญชวนให้ใช้ช่วงสงกรานต์นี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกบุหรี่ไฟฟ้า
ภาคีเครือข่ายเตรียมสำรวจผลกระทบอีกครั้งหลังรัฐบาลเดินหน้านโยบายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อประเมินแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน