คัดลอก URL แล้ว
“กต.” ยัน “ไม่กระทบความสัมพันธ์ 2 ประเทศ” ปม “ตัดไฟเมียนมา” จ่องดส่งน้ำมัน-สัญญาณสื่อสารต่อ

“กต.” ยัน “ไม่กระทบความสัมพันธ์ 2 ประเทศ” ปม “ตัดไฟเมียนมา” จ่องดส่งน้ำมัน-สัญญาณสื่อสารต่อ

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมาธิการการปกครอง ที่มีนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล เป็นประธาน ได้พิจารณาศึกษาการบริหาจัดการให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าข้ามพรมแดน ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีตัวแทนของกระทรวงการต่างเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าชี้แจง

นายไผท สิทธิสุนทร ผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจงต่อ กมธ. ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล หน่วยงานความมั่นคง มีความกังวลปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา และได้ประเมินหลายครั้ง เกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายบริเวณชายแดน ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งปัจจุบันและอนาคต

โดยในประชุม สมช.วานนี้(4ก.พ.) มีมติตัดไฟฟ้าในพื้นที่ 5 จุด ใน 3 จังหวัด ที่มีการใช้ไฟฟ้าจากไทยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ จึงต้องตัดไฟในวันนี้ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้มีการระงับการส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมถึงตัดสัญญาณโทรศัพท์ด้วย จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว และในอนาคตไม่ใช่เฉพาะเมียนมา แต่มีชายแดนด้านอื่น ที่ สมช.จะพิจารณาดำเนินการด้วย รวมถึงจะทบทวนกฎหมายและมติ ครม. ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ส่วนที่สังคมมองว่าการแก้ปัญหาเป็นการโยนกันไปมา ต่อไปในอนาคตจะทำอย่างไร เกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อจะดำเนินการได้รวดเร็วและการตัดน้ำตัดไฟ จะแก้ปัญหาได้ในระยะยาวหรือชั่วคราว รวมถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งชุมชน รร. ในพื้นที่ด้วยนั้น ผอ.กองความมั่นคงกิจการชายแดนฯสมช. กล่าวว่า สมช.ให้ความสำคัญเรื่องผลระทบกับประชาชน และมาตรการเฉพาะหน้าได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะโรงเรียน โรงพยาบาล และประสานรัฐบาลเมียนมาให้ดูแลด้วย ส่วนเครื่องเชนไฟ และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ทราบว่าอาจจะมีการส่งข้ามไป หน่วยงานความมั่นคงจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในทุกเรื่องและต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าข้ามชายแดนของเอกชน ที่อาจจะมีการเล็ดลอดไปสนับสนุนเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมย้ำ แนวทางสำคัญของ สมช. แนวทางสำคัญ คือ ไม่ให้ข้าราชการ เจ่าหน้าที่รัฐ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

นายราชิต สุดพุ่ม รองประธาน กมธ. กล่าวว่า ค่อนข้างผิดหวังการทำงานของข้าราชการ โดยเฉพาะความมั่นคง เพราะเหตุการณ์เกิดมาหลายปีแล้ว ทำไมเพิ่งจะพิจารณาการตัดน้ำตัดไฟ ตนคิดว่าสิ่งที่ดำเนินการวันนี้เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว

ขณะที่ นายคมกฤช จองบุญวัฒนา ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศไปแจ้งมติของ สมช.กับทาง รัฐบาลเมียนมา โดยได้แจ้งสถานทูตเมียนมาไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา สิ่งที่แจ้งไป 2 เรื่องคือ 1.การระงับการจ่ายไฟ และ 2.การระงับสัญญาณโทรคมนาคมและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ทางเมียนมา เตรียมตัว ไม่ให้ส่งผลกระทบกับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล

ทั้งนี้ ทางเมียนมาก็แจ้งความคืบหน้าเป็นระยะ ว่าที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือ ส่งกลับคนไปยังประเทศต้นทางไปแล้วจำนวนหลายพันคน แต่ปัญหายังอยู่ เพราะพื้นที่การทำกิจกรรมการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งทางเมียนมายืนยันให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้และพร้อมให้ความร่วมมือ ยกระดับการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าการแก้ปัญหาคร้้งนี้ ในระดับรัฐบาลไม่กระทบความสัมพันธ์ ล่าสุด ประเทศกัมพูชา ได้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วย

ส่วนตำรวจทหารไทยจะสามารถเข้าไปปราบปรามร่วมกับทางเมียนมา ได้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอธิปไตย เหมือนเช่นที่เราไม่ต้องการใครเข้ามาบังคับใช้กฎหมายในประเทศเรา

ด้านนายขจรเกียรติ อัศวเบ็ญจาง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตอบคำถาม เหตุใด กฟภ.ไม่ดำเนินการตัดไฟ ว่า ตามกรอบประเด็นสัญญาข้อ 14 ระบุ การกระทบความมั่นคง เป็นการเขียนไว้เพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้ประโยชน์จากจุดนี้ นำไปสู่การตัดไฟ ซึ่งประเด็นความมั่นคงมีความซับซ้อน นอกเหนือจากที่ กฟภ.จะสามารถพิจารณาได้หน่วยงานเดียว จึงต้องสอบถามไปยังหน่วยงานอื่น และหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ได้รับคำตอบที่อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กฟภ.ได้ดำเนินการตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเร่งด่วน พร้อมทำหนังสือแจ้งคู่สัญญา และได้ดำเนินการระงับจ่ายไฟทั้ง 5 จุดช่วงเช้าวันนี้

“ถ้าถามว่า กฟภ. ประเมินความมั่นคงในมิติไหนได้บ้าง ถ้าเป็นความมั่นคงพลังงาน เราสามารถประเมินความมั่นคงด้วยตัวเราเองได้ เราเข้าใจว่าความมั่นคงนั้น มีความซับซ้อน มีหลายมิติ หลายด้าน ซึ่งนอกเหนือขอบเขตที่ กฟภ. จะสามารถวิเคราะห์ได้เพียงหน่วยงานเดียวได้ เราจึงจำเป็นต้องถามไปยังหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ แต่เนื่องจากมีปัญหาในการตอบคำถามที่ยังไม่ชัดเจนนัก” นายขจรเกียรติ กล่าว

นายขจรเกียรติ ย้ำว่า หากมีจุดไหน ได้รับแจ้งจากหน่วยงานรัฐ ว่ามีกรณีเช่นเดียวกัน ก็สามารถดำเนินการตัดไฟได้ทันที พร้อมยอมรับว่าในอนาคตอาจมีการฟ้องร้อง จากคู่สัญญา เนื่องจากระยะเวลาการแจ้งงดจ่ายไฟน้อยมาก อาจทำให้คู่สัญญญาได้รับผลกระทบ ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ทางคู่สัญญาที่ดำเนินการ แต่ กฟภ.ก็มีระเบียบข้อสัญญาที่พร้อมนำไปต่อสู้ในชั้นศาลและเชื่อว่าข้อมูลจาก สมช.เพียงพอในการต่อสู้ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา