คัดลอก URL แล้ว
ปรับค่าแรงขั้นต่ำ กระทบเงินเฟ้อเพียง 0.15-0.30% คงเป้าปี 68 ที่ 0.3-1.3%

ปรับค่าแรงขั้นต่ำ กระทบเงินเฟ้อเพียง 0.15-0.30% คงเป้าปี 68 ที่ 0.3-1.3%

สนค.วิเคราะห์ผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อ แบ่งกลุ่มสินค้า-บริการเป็น 6 กลุ่ม พบกระทบน้อย เหตุมาตรการรัฐช่วยลดค่าครองชีพ-เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 พบว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.15-0.30 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2568 จะยังคงอยู่ในกรอบร้อยละ 0.3-1.3 (ค่ากลางร้อยละ 0.8) ตามที่เคยคาดการณ์ไว้

การศึกษาได้แบ่งกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

  1. สินค้าและบริการที่มีการกำกับดูแลโดยภาครัฐ (22% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) เช่น ค่าสาธารณูปโภค น้ำมัน การศึกษา ขนส่งสาธารณะ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐ
  2. สินค้าอุตสาหกรรมใช้ในชีวิตประจำวัน (25%) เช่น เครื่องปรุง เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าไม่ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก
  3. สินค้าเกษตร (22%) แม้ใช้แรงงานสูงแต่ไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้เนื่องจากราคาถูกกำหนดด้วยอุปสงค์-อุปทาน
  4. อาหารสำเร็จรูป (16%) มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงเนื่องจากใช้แรงงานมาก แต่ต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลงจึงคาดว่าผลกระทบไม่รุนแรง
  5. ค่าเช่าที่พักอาศัย (14%) คาดว่าไม่ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากขึ้นกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์
  6. บริการที่ใช้แรงงานมีฝีมือ (1%) เช่น ช่างตัดผม ช่างไฟฟ้า แม่บ้าน มีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ผอ.สนค. ระบุว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะมีจำกัด เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง