วันที่ 3 ธันวาคม 2567 นางสาวทิพย์วรรณ สงชัย เจ้าพนักงานสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์อำเภอห้วยยอด จ.ตรัง เร่งลงพื้นที่หมู่ 10 และหมู่ 5 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลรักษา พร้อมทั้งฉีดยาแก้ปวดลดไข้ และฉีดยาปฏิชีวนะให้แก่โคของเกษตรกรที่พบมีอาการติดเชื้อโรคปาก และเท้าเปื่อยในโค ที่ขณะนี้กำลังระบาดอยู่ในหลายหมู่บ้านของ ต.ห้วยนาง และต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
ล่าสุดพบโคตายแล้วอย่างน้อย 2 ตัว เจ้าหน้าที่จึงเร่งรักษาควบคุมพื้นที่การระบาด พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลรักษาอาการสัตว์ต่อไป โดยแนะนำให้มีการใช้มะขามเปียกคลุกเกลือนำไปล้วงคอโคกวาดเสมหะเช้า-เย็น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาตามภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมด้วย โดยมีนายปิยะพงษ์ นิรันดร์เรือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.หนองช้างแล่น ซึ่งรู้จักพื้นที่และรู้จักเจ้าของโคเป็นคนนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่
ทางด้านนางสาว ทิพย์วรรณ สงชัย เจ้าพนักงานสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์อำเภอห้วยยอด บอกว่า ก่อนการประกาศเขตภัยพิบัติ จุดเริ่มต้นของเชื้อพบว่า เกิดขึ้นในวัวฝูงหนึ่งที่เลี้ยงอยู่ในสวนปาล์มน้ำมัน หมู่ 5 ต.หนองช้างแล่น ต่อมาเชื้อก็มีการแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ จึงทำให้เจ้าของวัวและโคชนในพื้นที่ ต่างเร่งหาทางรักษาวัวของตัวเองก่อนที่จะแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลรักษา จนมาพบอีกที่หมู่ 4 ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง จึงได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว นับจากพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.ห้วยนาง ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 5 กม. เป็นเขตโรคระบาด
ขณะนี้พบว่ามีโคติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 400 ตัว โดยเชื้อระบาดอย่างรวดเร็ว เพราะอยู่ในช่วงที่เกิดฝนตก โดยน้ำจะพาเชื้อไป และเมื่อชาวบ้านไปตัดหญ้านำไปให้วัวกิน เชื้อก็จะไปติดวัวของตนเอง หรือบางครั้งชาวบ้านที่ทราบข่าวว่ามีวัวของเพื่อนบ้านติดเชื้อก็เดินทางไปดู และนำเชื้อไปแพร่ติดวัวของตนเองโดยไม่ตั้งใจ และไม่มีความรู้เพราะในพื้นที่ไม่ติดเชื้อนานแล้ว และแนวโน้มหากฝนยังตกต่อเนื่อง เชื้อก็จะยังแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น พร้อมแนะนำให้เจ้าของวัว นับจากรัศมี 6-20 กม.จะต้องรีบเบิกวัคซีนไปฉีดกันเชื้อก่อนที่เชื้อจะกระจายไปมากกว่านี้
ถ้าฉีดวัคซีนแล้วมาเป็นก็สามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนใหญ่ที่ระบาดอยู่นี้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน เพราะไม่พบโรคมานานแล้ว จึงทำให้เกิดการระบาดหนัก แต่ถ้าในรัศมี 5 กิโลเมตรลงมา ตั้งแต่หมู่ 4 ต.ห้วยนาง ไปจนถึงหมู่ 2 ต.บางดี อ.ห้วยยอด ไม่สามารถจะฉีดวัคซีนได้แล้ว เพราะอยู่ในระยะติดเชื้อ ส่วนอำเภออื่นๆ ขณะนี้ยังไม่พบการระบาด สำหรับโรคปากและเท้าเปื่อยในโค จ.ตรัง พบหลังสุดใน 2561 และ 2562 หรือประมาณ 5 ปีมาแล้ว