นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567 ว่า สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์รวมเครือ หดตัว 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี สะท้อนว่าแบงก์คุมเข้มปล่อยกู้ หนักสุดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ รวมยอดการปล่อยสินเชื่อกว่า 4.24 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 4 มีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ส่วนความคืบหน้ามาตรการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund หรือ FIDF) อยู่ระหว่างการการดำเนินการร่วมกับรัฐบาล ยืนยันว่า มาตรการลดเงินนำส่ง FIDF แบงก์ชาติไม่ได้ทำทับซ้อนกับรัฐบาล แต่เป็นมาตรการที่ทำร่วมกัน
โดยมาตรการ FIDF เป็นมาตรการที่รัฐบาลจะลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น ซึ่งสถาบันการเงินก็จะใส่เงินเข้ามาตรงนี้ส่วนหนึ่งด้วย
มีเงื่อนไขใน 3 กลุ่มได้แก่
- หนี้บ้านไม่เกิน 3 ล้านราย และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
- หนี้กู้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคัน และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
- กลุ่ม SMEs ที่กู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน
โดยคาดว่าน่าจะออกสิ้นปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันกับกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ และแบงก์พาณิชย์
อธิบายเพิ่มเติม สำหรับมาตรการลดเงินนำส่ง FIDF คือ เก็บเงินแบงก์พาณิชย์น้อยลง ดังนั้น จะลดให้เฉยๆ ไม่ได้แบงก์จะต้องวางเงื่อนไข เช่น จะช่วยลูกหนี้เท่าไหร่ ซึ่งภาครัฐจะต้องจ่ายเงินตามสัดส่วนที่แบงก์ช่วยลูกหนี้ แบบนี้แบงก์ต่างๆ ถึงจะยอมช่วยลูกหนี้
ส่วนเรื่องความคืบหน้าการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ในช่วงกลางปี 2568 จะเปิดรายชื่อผู้ที่ได้รับใบอนุญาต โดยในช่วงกลางปี 2569 จะเริ่มให้เปิดดำเนินธุรกิจ