ขนมหวานเมืองน้ำตาล ถือเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะขนมหม้อแกง หนึ่งในของดีประจำพริบพรี ที่ไม่ว่าใครมาเที่ยวที่นี่ก็ต้องหิ้วติดมือกลัยไปเป็นของฝาก
ในวันที่พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนไป กระแสรักสุขภาพกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของสังคมในวันนี้ ทำให้อาหารรสชาติ “เค็มตะโกน” หรือ “หวานตวาด” กลายเป็นของแสลงที่ใครๆ ก็พากันเมินหน้าหนี
นโยบายอ่อนหวาน ที่ขับเคลื่อนโดย เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภายใต้การสนับสนุนของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กำลังสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมบริโภคหวานแบบพอดี และกำลังปักหมุดให้เพชรบุรีอ่อนหวานลงเพื่อรับกระแสสุขภาพที่กำลังมาแรงในวันนี้
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า จ.เพชรบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ได้ประกาศนโยบาย “เพชรบุรีอ่อนหวาน” อย่างชัดเจน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร พร้อมกับการรณรงค์ให้คนเพชรบุรีโภคอาหารหวานน้อยลง เพื่อลดการเกิดโรค NCDs อีกทั้งยังปรับปรุงสูตรขนมหวานของฝากชื่อดังให้ลดความหวานลง ประหยัดต้นทุน ดีต่อสุขภาพ ซึ่งตรงกันกับการทำงานของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน
ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย ที่ปรึกษาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน อธิบายเพิ่มเติมถึงบทบาทของเครือข่ายฯ ในการรณรงค์ให้คนไทยลดบริโภคหวานลง ซึ่งปริมาณที่แนะนำจากองค์การอนามัยโลกนั้น สนับสนุนให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ขณะที่สถิติการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่ราว 30 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
โดยทางเครือข่ายฯ ได้ทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย 3 ระดับ คือ เด็กเล็ก ร้านค้า และโรงงาน ซึ่งการขับเคลื่อนตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ได้ทำงานกับเครือข่ายทั้ง 24 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่การรณรงค์ลดหวาน ส่งเสริมทานผลไม้ในศูนย์เด็กเล็ก ร้านกาแฟอ่อนหวาน กระทั่งจับมือกับสถาบันการศึกษาอย่าง ม.เกษตรศาสตร์ และ ม.มหิดล พัฒนาสูตรอาหารหวานน้อยเพื่อป้อนสู่ตลาด และขับเคลื่อนให้กลายเป็นนโยบาย หวานน้อยอร่อยได้ ในที่สุด
ด้าน อ้อมเดือน เห็นทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์เพชรบุรี ที่สนับสนุนพื้นที่ทำกิจกรรมรณรงค์เพชรบุรีอ่อนหวาน ได้ยืนยันเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมกับชุมชน ขับเคลื่อนวาระ และกิจกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะการเอาใจใส่สุขภาพ หรือกิจกรรมลดหวาน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของ เมืองขนมหวานอย่างเพชรบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของจังหวัดในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวที่เพชรบุรีในวันที่เทรนด์สุขภาพกำลังมาแรงอีกด้วย
ประเด็นขับเคลื่อนเพชรบุรีอ่อนหวานยังได้รับการประสานมือจากฝั่งผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำให้วาระหวานน้อยเมืองเพชรนั้นกลายเป็นรูปธรรมจับต้องได้
อย่างที่ ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ร้านของฝากที่พิกัดอยู่ทางนอกเมืองไปประมาณ 20 นาที ก็จะได้พบกับขนมหวาน หวานน้อย แต่ยังคงความอร่อยตามแบบฉบับขนมหม้อแกงแม่ครัวงานวัด ที่ตกทอดมาอยู่
ประวิทย์ เครือทรัพย์ ได้ปรับปรุงสูตรขนมหม้อแกงให้มีหลากหลายรสชาติ และรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไปเพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป
“วันนี้ มีรสมาตรฐาน 6 รส คือ เผือกหอม กล้วยหอมทอง ถั่วทอง ฟักทอง เมล่อน ทุเรียน สาระสำคัญของเรา ก็คือ ลดหวาน ทานแต่พอดี ตามโจทย์ของคนรุ่นใหม่ที่อยากทานหมดภายในครั้งเดียว และมีขนมหม้อแกงคีโต ความต้องการเห็นเหล่านี้เราจึงนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนวันนี้ขนมหม้อแกงกระปุก ฉีกจุดขายขนมหม้อแกงรูปแบบเดิม เพื่อเก็บรักษาและขนส่งง่าย ยืดอายุของขนม ด้วยขนาดที่เล็กทำให้ผู้บริโภคทานอาหารในปริมาณน้อยไปโดยปริยาย”
เขายอมรับว่า ความท้าทายของคนทำขนมหวานในวันนี้คือ ฝอยทอง และทองหยอด ซึ่งปริมาณน้ำตาลยังเป็นปัจจัยหลักในการคงรูปของตัวขนม ถือเป็นโจทย์การทำธุรกิจอันท้าทาย ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่ แบรนด์ขนม “ข้าวตังสุคันธา” อีกร้านที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ร้านของฝากที่โดดเด่นของ “ขนมข้าวตัง” อาหารทานเล่น ที่สืบทอดต้นตำรับจากรุ่นแม่มากว่า 30 ปี รวมทั้งขนมของฝากของเมืองเพชรหลากหลาย รวมทั้งขนมหม้อแกง และมีคาเฟ่ ที่สามารถออเดอร์หวานน้อยได้ตามต้องการ
จุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ เจ้าของแบรนด์สุคันธา บอกว่า ความหวานไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เพียงแค่ปรับวิธีทานให้น้อยลง ทางร้านจึงใช้น้ำตาลโตนดแท้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่ใส่แป้ง แต่จะใส่เผือกแทน เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อนที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาขนมกรุบกรอบสำหรับเด็กที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่อร่อยเหมือนเดิม
วันนี้ “เพชรบุรีเมืองขนมหวาน” อาจต้องเพิ่มวงเล็บว่าหวานน้อยอร่อยพอดี และหากมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไป จ.เพชรบุรี ก็สามารถปักหมุดไปร้านของฝากหวานน้อยได้