คัดลอก URL แล้ว
ตร. ยิงเสื้อเกราะโชว์ ยัน “กันกระสุนได้จริง” ไม่ใช่ไม้อัด!

ตร. ยิงเสื้อเกราะโชว์ ยัน “กันกระสุนได้จริง” ไม่ใช่ไม้อัด!

จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์รูปภาพที่อ้างว่าเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน ยัดไส้แผ่นไม้อัด หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปฏิบัติการเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย

ล่าสุด พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร., พล.ต.ต.นิรันดร ศิริสังข์ไชย ผบก.สพ., พล.ต.ต.วาที อัศวุฒมางกุร ผบก.พฐก. ,พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. , พ.ต.อ.นิติพงศ์ ประดิษฐ์พงศ์ รอง ผบก.สพ. และ พ.ต.ท.ชิตพล สะอาดดี สว.ฝ่ายสรรพาวุธ 2 สพ.(งานช่างอาวุธ) ร่วมแถลงข่าว และทดสอบใช้เลื่อย เลื่อยเสื้อเกราะให้สื่อดู ว่ามีความคงทน ไม่ได้เป็นไปตามที่โซเชียลแชร์กัน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เผยว่า หลังเป็นข่าว สพฐ.ได้นำเสื้อเกราะล็อตดังกล่าวไปตรวจสอบ ยืนยันว่าเกราะทุกตัวเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ (National institute of Justice) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งล็อตนี้ เคยใช้ในราชการ โดยกองสรรพวุธจัดซื้อเมื่อเดือนเมษายน ปี 2553 รวมทั้งสิ้น 650 ตัว ส่งมอบปี 2554 และหมดอายุการใช้งานใน 5 ปี ถัดมา คือปี 2559 ปัจจุบันไม่ได้ใช้ล็อตดังกล่าวแล้ว

จากการตรวจสอบเส้นใยของเกราะ เป็นโพลีเอทีลีน ที่มีความเหนียว แข็งแรง ที่ทับซ้อนกันมากกว่า 100 ชั้น และมีตัวประสานใยที่มีส่วนผสมของพอลิสไตรีน ดูดซับและกระจายพลังงานจากการกระแทกของกระสุน ให้เกิดความบิดเบี้ยว ไม่ทะลุผ่านได้

จากการทดสอบกับอาวุธปืน 3 ขนาด บนเกราะที่มีความหนา 2 ซม. เส้นใยสามารถหยุดยั้งกระสุนปืนขนาด 9 มม. / .357 แม็กนัม และ .45 ที่เป็นขนาดใหญ่ที่สุดที่จะอนุญาตให้ประชาชนครอบครองได้ โดยทั้ง 3 ชนิดยิงในระยะ 5 เมตรเท่ากัน ผลปรากฎว่ากระสุนปืนทั้ง 3 ขนาด ไม่สามารถทะลุผ่านเกราะไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังได้ยิงทำซ้ำแบบเดิมอีก 3 ครั้ง ทุกครั้งให้ผลเดียวกัน คือไม่สามารถทะลุเกราะ

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. เผยว่า สำหรับเสื้อเกราะที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ได้มีการตรวจสอบซีเรียลนัมเบอร์บนเกราะแล้ว และเกราะที่นำมาวันนี้คือตัวเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าในภาพที่แชร์นั้น ทำไมถึงเป็นไม้อัด แต่บางกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝึกซ้อมยุทธวิธี ก็มีความเป็นไปได้ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเวลาฝึกซ้อมอาจจะถอดเกราะจริงออก และใช้แผ่นไม้เพื่อการฝึกซ้อม ซึ่งยังไม่ทราบจุดประสงค์ของคนโพสต์ ยืนยัน เป็นห่วงข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย ย้ำชัด ตามที่แชร์กันไม่ใช่เสื้อเกราะจริง

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวยังได้ ขอให้มีการทดลองยิงเสื้อเกราะตัวเดียวกันอีกครั้ง โดยมีตัวแทนผู้สื่อข่าวเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ โดยพล.ต.ท.ไตรรงค์ ได้นำเสื้อเกราะตัวเดียวกันไปทดสอบยิงที่ห้องปฏิบัติการ ด้วยอาวุธปืนพก 3 แบบ ประกอบด้วยกระสุนขนาด 9 มม., ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด .45 รวม 8 นัด ในระยะยิง 5 เมตรซึ่งเป็นระยะที่อาวุธปืนทั้ง 3 ชนิดสามารถแสดงผลความเสียหายได้ดีที่สุด โดยปรากฏร่องรอยการกระสุน บริเวณท้อง ไหล่ซ้าย-ขวา ซึ่งพบกระสุนทั้งหมดฝังอยู่ในเสื้อเกราะ ไม่ได้ทะลุออกไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง