ในโลกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากมายที่อาศัยอยู่รอบตัวเรา หนึ่งในนั้นคือ “อะแคนทามีบา” (Acanthamoeba) ปรสิตตัวจิ๋วที่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเราได้โดยไม่รู้ตัว
“อะแคนทามีบา” เป็นโปรโตซัวประเภทอะมีบาที่มีขนาดเล็กมาก พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน , น้ำ และแม้แต่ในอากาศ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิดนี้มีความสามารถในการปรับตัวสูง ทำให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมถึงในน้ำประปาที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
“อะแคนทามีบา” มีสองระยะในวงจรชีวิต ได้แก่ ระยะ “โทรโฟซอยต์” (trophozoite) ซึ่งเป็นระยะที่เคลื่อนที่และกินอาหาร และระยะ “ซีสต์” (cyst) ซึ่งเป็นระยะที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ความสามารถในการเปลี่ยนเป็นซีสต์นี้ทำให้อะแคนทามีบา สามารถอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากได้เป็นเวลานาน
โรคที่เกิดจากอะแคนทามีบา มีหลายรูปแบบ ที่พบบ่อยที่สุดคือ “โรคกระจกตาอักเสบ” (Acanthamoeba keratitis) ซึ่งในกรณีรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิด “โรคสมองและไขสันหลังอักเสบ” (Granulomatous Amebic Encephalitis) ซึ่งพบได้น้อยแต่มีอันตรายถึงชีวิต รวมถึงการติดเชื้อที่ผิวหนัง และอวัยวะภายในอื่นๆ
สำหรับการป้องกันและการระวัง การติดเชื้ออะแคนทามีบา ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโดยตรง ดังนั้น การรักษาสุขอนามัยที่ดีและการใช้น้ำสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ ควรใช้น้ำต้มสุกหรือน้ำกลั่นในการทำความสะอาดเลนส์ และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เลนส์ขณะว่ายน้ำหรืออาบน้ำ