Whoscall พบสถิติตลอดทั้งปี 2566 คนไทยได้รับสายจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจาก SMS มากกว่า 58.3 ล้านข้อความ และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เฉลี่ยถึงวันละ 217,047 ราย รวมมูลค่าความเสียหายสะสมกว่า 53,875 ล้านบาท
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กสทช. ถูกร้องเรียนว่า ขอให้ช่วยตรวจสอบดูว่า ปัญหาการหลอกลวง สอดคล้องกับเสาสัญญาณตามแนวชายแดนหรือไม่ เพราะว่าหลายครั้งที่มีการร้องเรียน เรื่องการทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ บริเวณชายแดน พบว่ามีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยก่ออาชญากรรม ทั้งสแกมเมอร์ , คอลเซ็นเตอร์ และพนันออนไลน์
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของ กสทช. ลงพื้นที่ตรวจสอบชายแดนด้านจังหวัดตาก โดยใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอพบพระ , อำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด พร้อมทั้งสำรวจเสาส่งสัญญาณ พบส่วนใหญ่ยังคงหันหน้าไปฝั่งประเทศเมียนมา พื้นที่จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง แต่ผู้ประกอบการค่ายมือถือต่างๆได้ปิดการส่งสัญญาณตามคำสั่งของ กสทช.แล้ว รวม 84 เสาที่ขออนุญาตติดตั้งถูกกฎหมาย
ล่าสุดวานนี้(18 พ.ค.) กสทช. ลงพื้นที่สุ่มตรวจอีกครั้ง และกำชับผู้ประกอบการ ให้รื้อเสาตามแนวตะเข็บชายแดนไทยทั้งหมดใน 7 พื้นที่ ได้แก่ อ.เชียงของ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย , อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว , อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี , อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.ระนอง ให้แล้วเสร็จ ภายใน 30-45 วัน หากไม่ปฏิบัติบทลงโทษสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาต
ตามข้อกำหนดการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ พื้นที่ชายแดน ระบุว่าต้องอยู่ห่างจากชายแดน 200 เมตร และลดกำลังส่งสัญญาณ ให้อยู่เฉพาะในเขตประเทศไทยเท่านั้น ส่วนบ้านไหนที่อยู่ติดแนวชายแดน แล้วแอบลักลอบปล่อยเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีโทษทางกฎหมายด้วย