คัดลอก URL แล้ว
มองต่างมุม 2 ขั้ว ปมดับไฟป่าเชียงใหม่

มองต่างมุม 2 ขั้ว ปมดับไฟป่าเชียงใหม่

สถานการณ์ไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงต้องจับตา หลากหลายภาคส่วนยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่หลายคนจับตาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการลงพื้นที่ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหานี้พร้อมทีมงาน พร้อมฝากนายกฯ กางไทม์ไลน์แก้ปัญหาไฟป่า-ฝุ่นพิษให้ชัด เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างสอดประสาน ชี้สถานการณ์ปีนี้สายเกินป้องกัน ต้องเร่งบรรเทาผลกระทบประชาชน

10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น “พิธา” ไปเชียงใหม่ ดูแก้ปัญหาไฟป่า

โดยหลังนายพิธา ได้ลงพื้นที่ ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านอิสตราแกรมส่วนตัว ระบุว่า “10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น” พอได้อยู่หน้างาน แม้จะไม่นาน จะได้เข้าใจอะไร ที่การนั่งฟังจากอธิบดี จากหน่วยงาน ทำไม่ได้ ว่า อันตรายแค่ไหน? ร้อนแค่ไหน? เดินสูงแค่ไหน ? เทคโนโลยีเพิ่มความแม่นยำ ประสิทธิภาพ ลดเวลาหน้างานไง ?

ไม่ต้องทำเป็นเอง แต่เข้าใจพอที่จะออกนโยบาย เสริมงบ เสริมอุปกรณ์ ดูแลสวัสดิการคนหน้างานได้อย่างเห็นอกเห็นใจกัน

นอกจากนี้ นายพิธา ยังตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า Working hypothesis สมมุติฐานการป้องกัน แก้ไข จัดการ ก่อนฤดู ระหว่างฤดู และ หลังฤดูไฟป่า

ปัญหาไฟป่า เป็น logistical issue เพราะ 90% ของพลังงานหมดไปกับการ ลำเลียงคน ลำเลียงของ ลำเลียงไปให้ทันไฟ

1) เข้าใจพฤติกรรมของไฟ และ ประเมินได้เร็ว
2) เข้าถึง หัวไฟ หางไฟ และจำกัดมันได้เร็วก่อนมันลาม
3) มีทรัพยากร เครื่องมือหลากหลายเพื่อกำจัดไฟ ในรูปแบบป่าที่แตกต่างกัน ไหม้ไม่เหมือนกัน

ที่สำคัญกว่า ในช่วงที่มันสายเกินป้องกัน หรือ การดูแลประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ด้วยการเข้าถึง หน้ากากเฉพาะ และ เครื่องกรองอากาศ พื้นที่ clean air เมื่อข้างนอกแย่มากๆ ถึงแม้จะปลายเหตุ แต่จำเป็นที่ต้องมี โดนไม่เพิ่มต้นทุนชีวิตคนในช่วงที่เศรษฐกิจซึมอย่างที่เป็นอยู่

นโยบายแก้ไฟป่าที่ดีที่สุด อาจจะเป็นเตรียมตัวล่วงหน้าก่อน ฤดูไฟป่าจะมา ถ้าเอาสถิติจาก @gistda_space รวมถึงข้อมูลพื้นที่ของท้องถิ่น ย้อนหลังไป 5 ปี มาทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ น่าจะสามารถ forecast ไปข้างหน้า ว่าพื้นที่ ไหม้ซ้ำซาก อยู่ที่ใด การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่้เสี่ยง การเตรียมสถานีน้ำ เพื่อลดปัญหาลำเลียงในทีีลาดชัน การนำชาวบ้่านเข้ามาเป็นส่วนรวมในการวางแผน การ stock อุปกรณ์ที่เพียงพอ และตอบโจทย์หน้างานก่อนไฟมา น่าจะทุเลาปัญหาได้ไม่มากก็น้อย

“พิธา” ฝากนายกฯ กางไทม์ไลน์แก้ปัญหาไฟป่า-ฝุ่นพิษให้ชัด ตั้งคำถามทำไมไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ

ขณะที่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ที่ร้านอาหารใต้ถุนบ้าน ถนนช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจบภารกิจลงพื้นที่เรียนรู้และรับฟังปัญหาการจัดการไฟป่า ทั้งจากประสบการณ์ตรงของทีมอาสาดับไฟป่าในพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

พิธากล่าวว่า หลังจากที่ได้รับฟังการบรรยายจาก NARIT เมื่อค่ำวานนี้ ตนมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษได้ โดยเฉพาะภาพถ่ายดาวเทียมจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของปัญหา สามารถนำมาวิเคราะห์สถิติและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นที่จุดใดบ้าง ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ จะรุนแรงมากน้อยเพียงใดในช่วงสัปดาห์นี้ และจะบรรเทาลงเมื่อใด นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ยิงเลเซอร์ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ เพื่อวัดฝุ่นพิษ PM2.5 ว่ามีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด มีขอบเขตกว้างและสูงแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลออกนโยบายที่เท่าทันและแม่นยำต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ NARIT และ GISTDA มีองค์ความรู้และสามารถผลิตเครื่องมือต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ดีและต้องให้การสนับสนุนกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อได้รับฟังปัญหาแล้วมีสิ่งใดที่อยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พิธากล่าวว่า ตนอยากฝากให้นายกฯ ระบุไทม์ไลน์การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในระยะต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ระยะสั้นภายในสัปดาห์นี้จะแก้ไขเรื่องอะไร ภายในเดือนหน้าซึ่งคาดการณ์จากสถิติได้ว่าคุณภาพอากาศของภาคเหนือจะย้ำแย่ที่สุด รัฐบาลจะแก้ไขอะไรบ้าง รวมถึงในปีหน้ามีแผนการจะแก้ไขอะไร หากรัฐบาลมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ข้าราชการ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะสามารถให้ความร่วมมือและเดินหน้าไปพร้อมกันได้ แต่ที่ผ่านมาตนยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจนมากนัก ภาคส่วนต่าง ๆ จึงไม่ทราบว่าต้องให้ความร่วมมืออย่างไร ในมิติใดบ้าง

พิธากล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ฝุ่นพิษในขณะนี้สายเกินจะป้องกันที่ต้นเหตุได้แล้ว รัฐบาลจึงต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแบบเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น จัดให้มีหน้ากาก N95 และเครื่องฟอกอากาศในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่สามารถใช้ภูมิปัญญาของประเทศไทยได้ เช่น สถาบันการอาชีวศึกษาต่าง ๆ มีศักยภาพที่จะทำเครื่องฟอกอากาศได้แล้ว นอกจากนี้ยังต้องจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น โดยเฉพาะในโรงเรียนเด็กเล็กและสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มสรรพกำลังบุคลากรที่จะมาช่วยดับไฟป่า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลสามารถทำได้เลยภายในระยะสั้นสัปดาห์นี้

ส่วนในเดือนหน้าซึ่งจากสถิติสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นพิษน่าจะรุนแรงที่สุด สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือการนำข้อมูลของ GISTDA NARIT และกรมอุตุนิยมวิทยามาวิเคราะห์ย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งจะสามารถคาดการณ์ได้เลยทันทีว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเกิดไฟป่าบ้าง เพราะส่วนใหญ่จุดความร้อนมักจะเกิดการไหม้ซ้ำซาก รัฐบาลสามารถเตรียมการสร้างธนาคารน้ำไว้ในพื้นที่ใกล้ เคียงเพื่อให้ทีมดับไฟป่าเข้าไปใช้งานได้ทันที หากทำได้เช่นนี้ สถานการณ์ในปีนี้ก็น่าจะทุเลาลงไปได้

พิธาย้ำว่า ปัจจัยที่สำคัญต่อการดับไฟป่าคือการลำเลียงน้ำและคนเข้าไปดับไฟป่าได้ทันเวลา ดังนั้น เราต้องเข้าใจแบบแผนของไฟ เพื่อให้เกิด “Economy of Speed” หรือการไปให้ถึงก่อนที่ไฟจะลุกลาม และ “Economy of Scale” หรือการขยายทีมในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกจุดในเวลาพร้อม ๆ กัน รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ถ้าเราเข้าใจแบบแผนเช่นนี้ สถานการณ์ไฟป่าก็จะทุเลาลง และจะกลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

พิธาเข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและงบประมาณ ทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เต็มที่ในปีนี้ แต่ในระยะยาวตนต้องขอฝากนายกฯ ประเมินด้วยว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี เช่น ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดใน 10 จังหวัดภาคเหนือถึงไม่กล้าประกาศเขตภัยพิบัติ ทั้งที่สถานการณ์ฝุ่นพิษร้ายแรงติดอันดับโลก เป็นเพราะผู้ว่าฯ เกรงกลัวหรือไม่ว่าถ้าประกาศเขตภัยพิบัติแล้วจะเท่ากับว่าดูแลพื้นที่จังหวัดของตนเองไม่ดี ขณะที่ในด้านงบประมาณ การที่รัฐบาลอนุมัติงบกลางก้อนใหม่กว่า 272 ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษโดยเฉพาะก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรอติดตามต่อไปว่าจะสามารถเบิกใช้งานได้อย่างทันท่วงทีกับสถานการณ์หรือไม่

“เศรษฐา” แจง เหตุไม่ประกาศให้เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ห่วงเสียนักท่องเที่ยวระยะสั้น-ยาว

ทางฝั่งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาชี้จงกรณีดังกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุว่า จากกรณีที่มีคำถามมาถึงผมว่า ทำไมจึงไม่ประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ในขณะที่ค่าฝุ่นสูง ผมได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วครับ เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที แน่นอนครับว่า จ.เชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้น และระยะยาว เราเป็นห่วงกันตรงนี้ครับ

ส่วนเรื่องงบกลางที่รัฐบาลจัดสรรไปที่กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์ฯ นั้น พร้อมเบิกจ่ายเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม) ครับ ผมขอย้ำว่า การจัดสรรงบกลางนี้ เป็นการจัดสรรงบตรงถึงมือพี่น้องอาสาสมัครที่อาสาเข้ามาดูแลเฝ้าระวังไฟป่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสรรงบฯในลักษณะนี้ เพราะเราต้องการจ้างคนในพื้นที่มาดูแลรักษาพื้นที่ของเขา ตามโจทย์ของพื้นที่ และงบฯที่ให้ไปมีจำนวนมากกว่างบฯ ฉุกเฉินด้วย วิธีบริหารจัดการเรื่องฝุ่นมีหลายวิธี รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ แต่รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดี และมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องทำมาหากินด้วยครับ

รองโฆษกรัฐบาล โต้กลับ “พิธา” อย่าด้อยค่านายกฯ ทำร้ายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

วันที่18 มีนาคม 2567 นายคารม กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์  ที่ปรึกษาหัวพรรคก้าวไกล พูดในทำนองว่ารัฐบาลไม่มีแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น  แท้จริง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  พ.ศ.2550 มาตรา  6  นั้นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับชาติ   มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติหรือ “กปภ.ช”  โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคนที่  1 ซึ่งตามกฎหมายนี้  ในมาตรา 7 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ กปภ.ช เป็นผู้กำหนดนโยบายในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอยู่แล้ว    

นายคารม เน้นย้ำว่า เรื่องแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ  จึงมีอยู่ไม่ได้เป็นไปตามที่นายพิธา  พูดแต่อย่างใด    และเรื่องนี้นายอนุทิน    ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทำตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวมาเป็นลำดับ   โดยได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าการจังหวัดทุกจังหวัด  ตั้งแต่วันที่  9 ธันวาคม  2566 เรื่องการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า    หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี  2566-2567  และในเขตกรุงเทพมหานคร นายอนุทินฯ  ก็ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่  9  ธันวาคม   2566     เรื่อง  การเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละองขนาดเล็ก PM2.5  ของปี  2566-2567  เช่นกัน และต่อมาเมื่อนายอนุทินฯ เห็นว่าสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กรุนแรงขึ้น    นายอนุทินฯ ได้มีหนังสือลงวันที่  28 กุมภาพันธ์  2567 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการจังหวัดทุกจังหวัด  เรื่อง  เฝ้าระวัง ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุ ป้องกันลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง  ๆ  เช่นการเผาในที่โล่ง  การเผาในพื้นที่เกษตร  ซึ่งแสดงถึงการเอาใจใส่ต่อปัญหาดังกล่าวอย่างจริงของรัฐบาล เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ 

แต่ปัญหาเรื่องไฟป่านั้น  มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุเช่น ปัญหาพี่น้องประชาชนที่เข้าไปเก็บของป่า และประมาททำให้เกิดไฟไหม้  ทั้งโดยตั้งใจและประมาท  ส่วนเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นก็มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ   เช่นกันทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน   ซึ่งนายกรัฐนตรีก็ได้มีข้อสั่งการให้มีการตั้งทีมไทยแลนด์ เพื่อประสานการแก้ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว โดยได้มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

รัฐบาลสั่งสอบ ปมงบดับไฟป่า

ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือเรื่องของงบประมาณแก้ไขไฟป่าของทางแต่ละจังหวัด หลังกรณีที่มีคลิป Live การดับไฟป่าของพรรคก้าวไกลกับมูลนิธิกระจกเงา ที่มีช่วงหนึ่งที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้พูดคุยกับนายพิธาว่า “ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าประกาศภัยพิบัติเป็นเพราะไม่มีงบเหลือแล้ว เพราะงบภัยพิบัติเป็นงบที่ทดรองจ่ายให้กับบริษัทที่รออยู่แล้ว งบจังหวัดเป็นเงินทอน ดังนั้นพอเกิดภัยพิบัติจริงเลยไม่มีงบเหลือแล้ว ”

ประเด็นดังกล่าว นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า

1) รัฐบาลได้สั่งให้มีการตรวจสอบแล้วต่อกรณีดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 2 ประประเด็น กล่าวคือ

1.1 ที่ว่างบภัยพิบัติเป็นงบทดรองจ่ายให้กับบริษัทที่รออยู่แล้วนั้น เป็นงบทดรองจ่ายเรื่องอะไร ทำไมต้องเอางบภัยพิบัติไปจ่าย จ่ายให้กับบริษัทอะไร จ่ายไปเป็นเงินเท่าไร บริษัทรออะไรอยู่?

1.2 ที่ว่างบจังหวัดเป็นเงินทอนนั้น เป็นเงินทอนค่าอะไร ทอนให้ใครอย่างไร ยอดเงินทอนทั้งหมดเท่าไร?

2) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและเป็นการสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ขอความกรุณาคุณสมบัติได้โปรดให้ข้อมูลรายละเอียดตามประเด็นข้อสงสัยที่ 1.1 และ 1.2 ข้างต้น พร้อมส่งมอบหลักฐานตามคำกล่าวหาที่ปรากฏอยู่ในบทสนทนาของท่านกับคุณพิธาให้กับทางรัฐบาล(โดยสามารถส่งมอบผ่านคุณสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง)ด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

หากตรวจสอบแล้วว่าเรื่องนี้มีหลักฐานเชื่อถือได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง รัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการตามกฏหมายโดยเด็ดขาดทันที

ขอขอบคุณประชาชนทุกฝ่ายที่ได้แจ้งเบาะแสที่น่าสงสัยมายังรัฐบาลว่า อาจมีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสในการแก้ไขปัญหาดับไฟป่า-ลดฝุ่นควันอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ต่อมาสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้มีการตอบกลับประเด็นดังกล่าวในทวิตเตอร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เรียนคุณชัย วัชรงค์ 

ผมขอบคุณที่ท่านโฆษกให้ความสนใจเรื่องงบภัยพิบัติ ซึ่งแต่ละ จว จะมีงบก้อนนี้อยู่ 50 ล้านบาท 

ผมไม่มีเจตนาพาดพิง ผู้ว่าจังหวัดจังหวัดใดโตยตรง แต่ต้องการชี้ปัญหาเรื่องงบภัยพิบัติก่อนหน้านี้ที่เป็นข่าวเรื่องการทุจริตในการใช้งบภัยพิบัติ ท่านสามารถสืบค้นได้จากใน Google หรือสอบถามไปยัง ปปช ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบในหลายกรณี 

และหากจะเป็นประโยชน์สูงสุดในเรื่องนี้ ผมรบกวนรัฐบาลแจ้งต่อสำนักงบประมาณเพื่อนำข้อมูลการเบิกจ่ายเงินภัยพิบัติว่าได้นำมาใช้ในงานไฟป่าอย่างไรทั้งในปัจจุบันและในอดีตย้อนหลังสัก 10 ปี เพื่อที่ประชาชนจะได้เกิดความเข้าใจชัดเจน หากข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจที่ผมกล่าวมา ก็ยินดีปรับความเข้าใจ ขอโทษและหากมีความผิดทางกฎหมายก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการ

ยังต้องจับตาการแก้ปัญหาไฟป่าทั้งแผนระยะสั้น-ยาว ท่ามกลางการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ประชาชนยังคงรอการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและครอบคลุมในระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง