วันที่ 8 มีนาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากนายวิสุท สารสิทธิ์ เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เกาะลิบง จังหวัดตรัง เรื่องพบซากพะยูนเกยตื้นบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ต.เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จ้าหน้าที่ ศวอล. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ในการเข้าตรวจสอบและขนย้ายซากเพื่อมาชันสูตรยังศูนย์วิจัยฯ
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นซากพะยูน (Dugong dugon) เพศผู้ โตเต็มวัย ความยาวลำตัววัดแนบ 265 ซม. คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม (Body condition score, BCS = 1/5) สภาพซากสด
ลักษณะภายนอกพบลักษณะแผลหลุมลึก ยาว 7.5 x 4 ซม.บริเวณข้างลำตัวด้านบนครีบข้างซ้าย เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน พบก้อนลิ่มเลือดสีขาวอยู่ในหัวใจห้องบนขวาซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตและมีเลือดคั่งในหัวใจ
บริเวณส่วนของทางเดินหายใจ พบฟองอากาศภายในหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด คาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำ บริเวณม้ามพบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อม พบปื้นเลือดออกและเลือดคั่งที่เนื้อเยื่อไต
ส่วนของทางเดินอาหาร พบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อยและพยาธิตัวกลมจำนวนมาก บริเวณลำไส้พบก้อนเนื้อขนาด 2 x 1 ซม. และก้อนหนองขนาด 1 x 1 ซม. และพยาธิใบไม้เล็กน้อย ตับอ่อนพบลักษณะบวมน้ำและมีเลือดคั่ง และพบเศษเชือกไนล่อนในกระเพาะอาหารซึ่งไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต
สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบความผิดปกติหลายระบบ ป่วยเรื้อรังเป็นระยะเวลานานร่วมกับภาวะอ่อนแอจากวัยแก่ จึงทำให้สัตว์เสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
อ.ธรณ์ชี้ วิกฤติหญ้าทะเล – พะยูน
ทางด้านของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยข้อมูล 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตหญ้าทะเลและพะยูน โดยระบุว่า
หญ้าทะเล บริเวณตรังและกระบี่เผชิญวิกฤตตายจำนวนมาก คาดว่าเกิดจากภาวะโลกร้อน อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น การขุดลอกร่องน้ำ (แต่ได้มีการหยุดดำเนินการปี 63) หญ้าทะเลเริ่มตายตั้งแต่ปี 65 ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว มีโอกาสขยายพื้นที่เสียหาย ส่งผลกระทบต่อพะยูน ประมาณ 220 ตัว อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีการเริ่มต้นสำรวจหญ้าทะเลที่ตรังเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งคณะประมงตั้ง “หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน” และมีโรงเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลเพื่อเรื่องนี้ตั้งแต่ 4 ปีก่อน
นอกจากนี้ อ.ธรณ์ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า กรมทะเลตั้งคณะทำงานแล้วตั้งแต่ต้นปี ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ (บางคนก็อยู่ในทะเลตอนนี้) ประชุมกันเกือบทุกวัน เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญดีกว่านี้อีกแล้ว อย่างไรก็ตาม
ที่สำคัญสุดคือการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ที่กรมทะเลเสนอไป เพื่อให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพะยูน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้งบหรือไม่ ?