คัดลอก URL แล้ว
นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว ปรับขึ้นค่าแรงรอบ 2

นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว ปรับขึ้นค่าแรงรอบ 2

คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยให้นำจำนวนเดือนที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างมาใช้ในการคำนวณ / นำร่อง 10 จังหวัด ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบ 2 เน้นกลุ่มอาชีพภาคการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก

หลังการประชุมพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ล่าสุด ที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 5 เสียง เห็นชอบให้มีการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่

โดยสูตรคำนวณใหม่ จะมีการเพิ่ม จำนวนเดือนที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เข้าไปคำนวณด้วย /ส่วนตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภาพแรงงาน หรือ ความสามารถของแรงงาน / อัตราเงินเฟ้อ / อัตราสมทบของแรงงาน ยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งอัตราเงินเฟ้อ จะใช้ของปี 2566 มาพิจารณา

นอกจากนี้ มาตรา 87 (ตัวแปรสะท้อนเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่) ที่ใช้ในการพิจารณาประกอบเพิ่มเติมจากสูตรคำนวณ ได้มีการปรับช่วงเวลาให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยว่า สูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้ จะส่งให้แต่ละจังหวัดทำแบบสอบถาม หากต้องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ให้พิจารณาส่งตัวเลขมา

แต่ 10 จังหวัดนำร่อง ที่กระทรวงแรงงาน มองว่า จำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ กทม. / ภูเก็ต / ชลบุรี / เชียงใหม่ / สุราษฎร์ธานี /กระบี่ / สงขลา /พังงา / ประจวบคีรีขันธ์ / /และระยอง จะต้องส่งตัวเลขการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาพิจารณาใหม่ โดยจะมีการประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ อีกครั้ง วันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยจะเร่งให้ทันประกาศค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ภายในเดือน เมษายนนี้ แต่จะถึง 400 บาทหรือไม่ ต้องดูที่ความเหมาะสม โดยจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และปรับขึ้นเพียงบางอาชีพเท่านั้น

ขณะที่ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องมีเหตุมีผล และดูความเหมาะสม ซึ่งปกติจะปรับปีละครั้ง โดยกลุ่มธุรกิจ SME มีความกังวลกับเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นสำคัญ

ส่วนผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง มองว่า ตอนนี้ ยังคงให้คำตอบไม่ได้ ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ซึ่งสูตรคำนวณที่มีการปรับใหม่วันนี้ โดยส่วนตัว คิดว่ามีความเป็นธรรมแล้ว / โดยการปรับขึ้นค่าจ้างรอบ 2 ต้องรอข้อมูลของแต่ละจังหวัดส่งมาก่อน ซึ่งหากมันสูงเกินไป ก็อาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

นอกจาก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ต้องการให้รัฐบาลคุมราคาสินค้าและบริการด้านอุปโภคและบริโภค เพื่อช่วยเหลือแรงงาน ไม่ให้พุ่งสูงขึ้น จนเกินรายได้ของแรงงานที่ได้รับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง