เรื่องร้อนในข้อพิพาทที่ดินของรัฐในขณะนี้ หนีไม่พ้นปมปัญหาระหว่างกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในแปลงที่ดิน ส.ป.ก. ที่ถูกกล่าวหาว่า มีขบวนการทุจริต ออกเอกสารสิทธิ์ ให้กับคนนอกพื้นที่
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดขึ้น หลังจาก ส.ป.ก. นครราชสีมา ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิในที่ดิน สปก. ที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในช่วงเดือนตุลาคม และ พฤศจิกายน 2566 แต่กรมอุทยานฯ รายงานว่า ช่วงก่อนหน้านั้น ราวๆ เดือนกรกฎาคม 66 พบการปรับสภาพพื้นที่ในแนวเขตอุทยาน และ พบป้ายแสดงเอกสาร เป็นที่ สปก. จึงไปแจ้งความเอาไว้ แต่ในเดือนสิงหาคม
ก็ยังพบการบุกรุกในแปลงเดิมต่อจนกระทั่ง มีการประกาศรายชื่อ และ อช.เขาใหญ่ ร่วมตรวจสอบกับ สปก. โคราช ก็พบว่า มีการปักหมุนเข้ามาในแนวเขตอุทยาน บริเณ ม.10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง 5 หมุด และกระบวนการหลังจากนั้น พบว่า บุคคลที่ครอบครอง ไม่ใช่คนในพื้นที่
อช.เขาใหญ่ ขอให้ สปก.โคราช ถอนหมุด แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2566 สปก. โคราช แจ้งว่า ตรวจสอบทั้ง 5 หมุด เป็นแนวเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวเขตที่ดินในท้องที่สีคิ้ว สูงเนิน และปากช่อง 2534 โดยที่ดินอยู่ในแนวโครงการที่จำแนกป่าเขาใหญ่
เริ่มปี 2567 อช.เขาใหญ่พบว่า มีการบุกรุกแผ้วถางใน 2 แปลง โดยเป็นการใช้เครื่องจักรเข้าไปปลูกมะม่วง ตอนเข้าไปไม่พบผู้กระทำผิด ก็เลยติดตั้งกล้องไว้ ปรากฏว่าใน 3 วันถัดมา กล้องส่งสัญญาณมาว่า มีคนเข้าไปรดน้ำมะม่วง จึงเข้าไปตรวจสอบ เจอบุคคลหนึ่ง แต่เขาก็อ้างว่า มีเอกสารสิทธิ์ สปก 4-01 ในล็อตเดือน พ.ย. 66 เรื่องไม่จบแค่การแจ้งความ เพราะ อช.เขาใหญ่ รายงานต่อผู้ว่าฯ เพื่อให้ สปก.เพิกถอนหมุดทั้งหมด
ข้อสังเกตก็คือ นอกจากแนวเขตที่ดินระหว่าง สปก. และ อุทยานฯ ไม่ตรงกัน แต่ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันว่า คนที่เข้าไปทำกิน ไม่ใช่คนในพื้นที่ และ ไม่เคยได้เข้าร่วมการสำรวจแนวเขตที่ดิน ไม่เคยรับรองให้บุคคลดังกล่าวว่า “เป็นเกษตรกรในพื้นที่ “
จากแผนที่ ที่เป็นแนวยาว อช.เขาใหญ่ อ้างว่า ชาวบ้านในพื้นที่ก็ทราบดีว่า นี่คือ
แนวตรวจการณ์ เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตลาดแนวหมุดที่พบ 10 หมุด เป็นป่าสมบูรณ์ มีบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เหมาะกับการเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า พบร่องรอยขับถ่าย หากินของสัตว์ป่า ไม่พบร่องรอยการทำกินของมนุษย์ แต่กลับพบการออกเป็นเอกสารสิทธิ์ สปก. ให้บุคคลนอกพื้นที่เข้ามา เอามะม่วงกิ่งชำ มาลงแบบนี้ได้อย่างไร
และยังพบแนวที่เชื่อว่า เป็นการเตรียมทำถนน จึงนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดี ว่าเป็นการออกเอกสาร สปก.4-01 โดยมิชอบในเขตป่าอนุรักษ์ โดยแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งพบว่า มีเอกสาร สปก ทับซ้อนเขาใหญ่ 972 ไร่เศษ และ ทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ ตาม พรบ.ป่าไม้ 486 ไร่เศษ
ที่จริงแล้ว นครราชสีมา เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่อง ใช้แผนที่ วัน แมพ (ONE MAP) ที่ ครม. เคยมีมติรับรอง เป็นทางออกให้กับปัญหาข้อพิพาทที่ดินของรัฐ ระหว่าง ที่ ส.ป.ก.-ป่าไม้-อุทยานฯ- และ ที่ราชพัสดุ เนื่องจาก แต่ละแห่งถือแผนที่กันคนละฉบับ หากแปลงใด พบว่าเป้นป่าสมบูรณ์ ก็ให้คืนให้แก่กรมป่าไม้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะสะท้อนว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีบุคคลที่ไม่หวังดี นำเอาคนจากภายนอกพื้นที่เข้ามาครอบครองที่ดินของรัฐ ที่ไม่ควรจะออกเอกสารสิทธิ์ได้
นี่คือเรื่องของ 2 กระทรวง คือ ส.ป.ก. กระทรวงเกษตร กับ อุทยาน สังกัด ก.ทรัพย์ฯ ที่จะต้องหาข้อยุติ ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ ปลัด ทส. ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้
ซึ่งในทางการเมืองอาจจะไม่ยาก เพราะเป็นพรรคพลังประชารัฐทั้ง 2 กระทรวง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขบวนการดังกล่าว มีจริงหรือไม่ ใครจะเป็นคนให้คำตอบกับสังคมได้ โดเฉพาะ ในช่วงจังหวะที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ตัวตั้งตัวตี เรื่องนี้ ถูก ป.ป.ช. มีคำสั่ง ความผิดเรื่องในอดีต ต้องถูกลงโทษใน 30 วัน นี่คือ เกมการเมืองหรือไม่