คัดลอก URL แล้ว
เลขาฯมูลนิธิปัญญพัฒน์ฯ แนะชายพิการโยกสามล้อเข้ากรุง ฟ้อง 157 จนท.

เลขาฯมูลนิธิปัญญพัฒน์ฯ แนะชายพิการโยกสามล้อเข้ากรุง ฟ้อง 157 จนท.

กรณีนายมณฑล ชายพิการโยกสามล้อจากจังหวัดสุโขทัย มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯเพื่อยืนยันตัวตนขอสิทธิคนพิการที่กรมบัญชีกลาง ระหว่างเดินทางมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพบตำรวจจึงได้พาไปพักที่โรงพัก ในคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่ในช่วงค่ำก็แอบหนีออกมา จนช่วงสายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตำรวจสภ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยาก็พบตัวชายคนดังกล่าว แต่ชายพิการกลับปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือยืนยันว่าจะเข้ากรุงเทพฯ

นายปรีดา ลิ้มนนทกุล เลขาฯ มูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ แสดงความเห็นเรื่องนี้กับทีมข่าวโมโนว่า ส่วนตัวเชื่อว่านายมณฑล คงมีความคับแค้นใจในการถูกตัดสิทธิแล้วคงได้พยายามไปเดินเรื่องที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสุโขทัย มาแล้วแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงคิดทำเช่นนี้ “ต้องคิดดูว่าคนพิการที่โยกสามล้อจากสุโขทัยเข้ากรุงเทพฯ เขาต้องเก็บความรู้สึกไว้เยอะ” แยกประเด็นดังนี้

1.กรณีที่ตรวจสอบพบว่า นายมณฑล  ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนบ้านมาอยู่ทะเบียนกลาง เนื่องจากว่าถูกออกหมายจับ เมื่อปี 2563 หลังจากคดีสิ้นสุด ไม่ได้ไปติดต่อกับทางราชการ จึงทำให้ถูกตัดสิทธิ จนไปขอทำบัตรประชาชนที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จึงทราบว่าถูกตัดสิทธิ์  ประเด็นนี้ต้องแยกให้ออกเรื่องคดี กับเรื่องสิทธิคนพิการ คนพิการเมื่อขึ้นทะเบียนคนพิการแล้วต้องได้รับเบี้ยคนพิการ

2.กรณีที่ถูกคัดชื่อโอนไปทะเบียนกลาง ที่ทางกรมบัญชีกลางชี้แจงว่า ระบบรายชื่อในทะเบียนบ้านกลาง ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ ทำให้ กรมบัญชีกลางระงับการจ่ายโดยอัตโนมัติ ในเดือนตุลาคม 2563 พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลผ่านระบบให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ได้ส่งข้อมูลการขอเบิกเบี้ยความพิการของนายมณฑล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563  ประเด็นนี้นายปรีดา มองว่า เมื่อนายมณฑล ไปติดต่อหน่วยงาน ในการทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่ได้ให้การช่วยเหลือใดๆหรือไม่ หรือมองว่าไม่ใช่หน้าที่ เพราะ นายมณฑล มีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง ก็ต้องไปหาทะเบียนบ้านย้ายเข้าเอง และเมื่อไปติดต่อ พม.จังหวัด เจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือแนะนำ หรือโยนเรื่องให้ไปทำบัตรประชาชนมาก่อน เรียกว่าโยนกันไปมาระหว่างหน่วยงาน  เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจทำให้นายมณฑล ตัดสินใจโยกรถสามล้อระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรเข้ามาร้องเรียน

นอกจากนี้นายปรีดา ยังระบุอีกว่า ถ้านายมณฑล มาร้องที่มูลนิธิฯ ก็จะช่วยเหลือในการโอนชื่อเข้าทะเบียนบ้าน แล้วไปติดต่ออำเภอเพื่อขอขึ้นทะเบียนคนพิการ ซึ่งถ้าเป็นคนพิการโดยประจักษ์ คือ ความพิการที่มองเห็นได้เช่น ขาดขาด แขนขาด ทางอำเภอสามารถออกบัตรคนพิการได้ทันที เพื่อนำไปขอสิทธิรับเบี้ยคนพิการจาก พม.  แต่หากความพิการมองไม่ได้ด้วยตา จะต้องให้แพทย์ตรวจยืนยัน ออกใบรับรอง แล้วจึงไปยังหน่วยงานท้องถิ่น เทศบาล อำเภอ เพื่อออกบัตรคนพิการ แล้วไปขอรับสิทธิเบี้ยคนพิการเช่นเดียวกัน   รวมทั้งยังจะแนะนำให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ

นายปรีดา ยังระบุต่อว่า “ต้องให้เป็นข่าวทุกกรณีก่อนหรือไม่จึงช่วยเหลือ” จากการประเมินตัวเลขคนพิการในประเทศไทยมีประมาณ 7 ล้านคน ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ามีคนพิการอยู่ 4.1 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีคนพิการที่มีบัตรเพียง 2.1 ล้านคน อีก 2 ล้านคนตกหล่นเพราะการเข้าถึงสิทธิที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะความพิการที่ไม่เห็นโดยประจักษ์ อย่างกรณีผู้สูงอายุหลังคดเดินผิดปกติ มาขอให้มูลนิธิฯช่วยเพราะแพทย์ไม่ออกใบรับรองแพทย์ ให้ทางมูลนิธิฯ ก็ต้องไปคุยกับแพทย์ ชี้ให้เห็นความพิการที่ร่างกายไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ สุดท้ายแพทย์ก็ออกใบรับรองความพิการให้

อีกประเด็นที่มูลนิธิฯ กำลังต่อสู้เรียกร้องคือการใช้สิทธิประกันสังคม เบิกค่ารักษาพยาบาลเดือนละ 2000 บาท ซึ่งจะต้องมีใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง ทำให้ทุกเดือนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองแพทย์ เห็นว่ากรณีคนพิการถาวร หมดทางรักษา ควรมีใบรับรองความพิการตลอดชีพหรือไม่ เพื่อลดขั้นตอนที่สร้างความลำบากแก่คนพิการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง