คัดลอก URL แล้ว
รู้จัก Peak Flow Meter เครื่องตรวจสมรรถภาพปอด

รู้จัก Peak Flow Meter เครื่องตรวจสมรรถภาพปอด

แพทย์แนะตรวจสมรรถภาพปอดใกล้บ้าน คัดกรองผู้ป่วยทางเดินหายใจเชิงรุกในช่วงฝุ่น PM 2.5
หลังเครือข่าย EACC มอบ Peak Flow Meter ให้โรงพยาบาลสังกัดสธ. ทั่วประเทศ

วันนี้ (27 ธันวาคม 2566) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic หรือ EACC) นำโดย รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่าย EACC เป็นตัวแทนมอบอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด Peak Flow Meter ในแคมเปญ ’ปอด‘ ปลอดภัย รณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจเช็คสุขภาพปอด เพื่อให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจปลอดภัยจากอาการรุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยมอบให้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวนกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ โดยมีนพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบ

นพ.ภาณุมาศ กล่าวชื่นชมเครือข่าย EACC ซึ่งดำเนินงานมาเกือบ 20 ปี มีเครือข่าย คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการจัดบริการสุขภาพเฉพาะโรคผ่านสหวิชาชีพอย่างเข้มแข็ง พร้อมส่งต่ออุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด Peak Flow Meter เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุก ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในทั่วประเทศ

ด้านรศ.นพ.วัชรา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขยายเครือข่าย EACC ในโรงพยาบาลและเครือข่ายกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่ายตามมาตรฐาน สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะสาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งคาดว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นและสภาพอากาศปิด 

“สำหรับอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด Peak Flow Meter ใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในเชิงรุก จึงอยากเชิญชวนให้ตรวจเช็คสุขภาพปอด เพื่อ ’ปอด‘ปลอดภัย ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์ในเชิงป้องกันความรุนแรงอาการโรคระบบทางเดินหายใจ และยังลดงบประมาณด้านสาธารณสุขประเทศในระยะยาวด้วย” รศ.นพ.วัชรากล่าว

ทั้งนี้แพทย์แนะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีการแพร่กระจาย และจะฟุ้งมากโดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นและมีสภาพอากาศปิด ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดการกระตุ้นความรุนแรงอาการของโรคได้


Peak Flow Meter คือ เครื่องมือวัดความเร็วลมที่คุณเป่าออกมาจากปอดอย่างเร็ว มีหน่วยเป็นลิตรต่อนาที ค่าที่ได้จะบอกให้เราทราบสภาวะหลอดลมว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าหลอดลมตีบหรือแคบลง ความเร็วของลมที่เป่าออกมาก็จะน้อย ค่าที่ได้ก็จะน้อย ถ้าหลอดลมไม่ตีบค่าที่เป่าก็จะได้มากแสดงว่าเราควบคุมโรคหืดได้ดี

ค่า Peak Flow Meter จะขึ้นกับเพศ อายุ และส่วนสูง คุณควรทราบค่าปกติ หรือค่าที่ดีที่สุดที่คุณเป่าได้ เพราะจะใช้เป็นค่ามาตรฐานสำหรับตัวคุณในการประเมินอาการ

วิธีใช้
1. เลื่อนเข็มชี้ลงมาที่เลข 0
2. ยืน หรือถ้ายืนไม่ได้ก็ให้นั่งตัวตรง (อยู่ในท่าเดียวกันทุกครั้งที่คุณเป่า)
3. หายใจเข้าให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
4. อมที่ปากกระบอกของเครื่อง ปิดปากให้สนิท เป่าลมออกจากปอดให้แรงและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
5. ดูว่าเข็มชี้เลื่อนไปตรงกับเลขใด ให้จดไว้
6. ทำซ้ำตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 – 5 อีก 2 ครั้ง (เป่าทั้งหมด 3 ครั้ง)
7. บันทึกค่ามากที่สุด
8. การอ่านและการแปรผล

PEFR (Peak Exspiratory flow rate) : ความเร็วลมที่เป่าออกจากปอดอย่างรวดเร็ว
PEFR บอกให้ทราบถึงสภาวะหลอดลมว่าเป็นอย่างไร ถ้าหลอดลมที่ตีบแคบ ค่าที่ได้จะน้อย
ค่าที่วัดได้มีหน่วยเป็น L/min

ข่าวที่เกี่ยวข้อง